ปลายเดือน ส.ค. 2564 มูลนิธิรักษ์ไทยได้รับการประสานให้ช่วยเหลือผู้ป่วยหญิงคนหนึ่งในชุมชนบางกระดี่ ซอย 1 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กทม. เธอเป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศเมียนมา อาศัยอยู่กับลูกชายวัย 9 เดือน ขณะนั้นแยกกันอยู่กับสามีซึ่งเป็นชาวเมียนมาเช่นกัน
หลังให้การช่วยเหลือไม่นานหญิงชาวเมียนมาก็เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 เพื่อนบ้านชาวชุมชนบางกระดี่ซอย 1 จึงต้องผลัดกันมาดูแลเด็กเป็นระยะ ด้วยความที่เด็กน้อยมีนิสัยร่าเริง ยิ้มง่าย จึงกลายเป็นที่รักของเพื่อนบ้านอย่างรวดเร็ว
มูลนิธิรักษ์ไทย ซึ่งให้ความช่วยเหลือแม่ของเด็กตั้งแต่ยังมีชีวิต ได้ติดตามหาพ่อของเด็กโดยหาข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่าของเธอจนพบหมายเลขโทรศัพท์ซึ่งคาดว่าเป็นของพ่อเด็ก เมื่อติดต่อไปหาจึงทราบว่าพ่อเด็กทำงานอยู่ที่ จ.นครราชสีมา โดยอ้างว่า ถูกนายหน้าหลอกไปทำงานที่นั่น เมื่อพ่อเด็กทราบว่าอดีตภรรยาเสียชีวิตแล้ว จึงเดินทางกลับบ้านมาหาลูกชาย ทำให้ทั้งสองคนได้กลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง
ผู้เป็นพ่อต้องการส่งลูกชายไปให้ญาติที่ประเทศเมียนมาช่วยดูแลระหว่างที่เขาทำงานในประเทศไทย แต่ปัญหาคือ หนังสือรับรองการเกิดของเด็กที่โรงพยาบาลออกให้ไม่มีชื่อพ่ออยู่ในนั้น จึงไม่มีหลักฐานทางกฎหมายยืนยันว่าทั้งสองเป็นพ่อลูกกัน การพาตัวเด็กข้ามพรมแดนจึงทำไม่ได้ พ่อของเด็กและชาวชุมชนบางกระดี่ซอย 1 จึงต้องช่วยกันดูแลเด็กคนนี้ต่อไป
นายวีระ คีรีไกรวัล เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิรักษ์ไทย บอกว่า เนื่องจากพ่อเด็กเคยมีประวัติทอดทิ้งลูกมาก่อน ทำให้มูลนิธิรักษ์ไทยต้องเฝ้าระวังพฤติกรรมของพ่อว่าสามารถเลี้ยงดูลูกชายได้หรือไม่ ก่อนตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ตอนนี้เรายังให้โอกาสพ่อก่อน เพราะเขาอยากเลี้ยงลูกเอง เราก็บอกว่าถ้าคุณจะเลี้ยงต้องหางานทำให้ได้ ถ้าหาไม่ได้จะเกิดผลกระทบต่อเด็กเพราะจะปล่อยให้ลูกอยู่ตามยถากรรมไม่ได้ เราก็ให้ข้อมูลเขาไปว่าถ้าเขาทำไม่ได้ ก็ต้องส่งให้บ้านพักเด็กเลี้ยง
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการแก้ไขปัญหาเด็กไม่มีสัญชาติไทยที่ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งแม้ว่ามีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับเด็กไทย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วการแก้ปัญหามักมีความซับซ้อนมากกว่า
นางสุภัชชา สุทธิผล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ระบุว่า การช่วยเหลือเด็กไม่มีสัญชาติไทยในสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นลักษณะเดียวกับเด็กสัญชาติไทยทุกประการ คือ เน้นให้ครอบครัวของเด็กดูแลเป็นหลัก หากไม่มีจะจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ให้ หากจัดหาไม่ได้ การรับเด็กเข้าสถานสงเคราะห์ของรัฐจะเป็นทางออกสุดท้าย
นอกจากนี้หากพบว่าเด็กมีญาติอยู่ในต่างประเทศ กรมกิจการเด็กและเยาวชนจะช่วยเหลือประสานงานกับครอบครัวเพื่อส่งกลับไปยังประเทศต้นทางอย่างปลอดภัย
ถ้าเป็นเด็กกำพร้าที่ไม่มีสัญชาติไทยหรือพิสูจน์สัญชาติไม่ได้ ต้องรับเข้ามาในสถานสงเคราะห์ก่อน แล้วติดตามหาญาติ ถ้าหาได้ก็พิจารณาให้ญาติกลับไปเลี้ยงดู ถ้าหาญาติไม่ได้ ภาครัฐก็ต้องดูแลต่อไป กรณีที่เป็นลูกแรงงานข้ามชาติที่มีสัญชาติชัดเจน จะประสานงานกับสถานทูตของประเทศนั้นๆ เพื่อให้ครอบครัวในประเทศต้นทางรับเด็กไปดูแล
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา หรือ CDC เผยแพร่งานวิจัยซึ่งทำร่วมกับมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือน ส.ค. 2564 ศึกษาข้อมูลการเสียชีวิตใน 21 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 77 ของการเสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลก คาดการณ์ว่า อาจมีเด็กอย่างน้อย 1,800,000 คน สูญเสียบุคคลในครอบครัวจากสถานการณ์โควิด-19