วันนี้ (14 ต.ค.2564) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิจัยเรื่อง "ดัชนี KR-ECI ปรับดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์" โดยระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ในเดือน ก.ย. เริ่มมีทิศทางทรงตัวส่งผลให้มีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มการระบาดบางส่วน เช่น ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารที่เริ่มกลับมาเปิดทำการ ได้ส่งผลให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในเดือน ก.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 36.6 จาก 33.0 ในเดือน ส.ค.
ทั้งนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 38.4 จาก 35.5 ในเดือน ส.ค. โดยครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงาน
อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากครัวเรือนบางส่วนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ไม่รวมภาระหนี้รวมถึงราคาพลังงาน ค่าสาธารณูปโภค และบริการพื้นฐานในชีวิตประจำวัน
ช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์การได้รับวัคซีนมีความคืบหน้าไปในทิศทางที่ดี การส่งมอบและการจัดหาวัคซีนเป็นไปตามแผนการของภาครัฐ แม้ว่าอัตราการฉีดวัคซีนจะยังมีการกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่เสี่ยง แต่เริ่มมีการจัดสรรไปยังพื้นที่อื่นๆ เพิ่มขึ้น
โดยล่าสุดอัตราการฉีดวัคซีนของไทยเข็มแรกครอบคลุม 53.0% และเข็มที่ 2 ครอบคลุม 35.4% ของจำนวนประชากร จำนวนผู้ติดเชื้อที่เริ่มทรงตัวและอัตราการฉีดวัคซีนที่คืบหน้าส่งผลให้ภาครัฐอนุมัติมาตรการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และทัวร์เที่ยวไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้สำรวจเพิ่มเติมถึงโครงการท่องเที่ยวของภาครัฐดังกล่าวว่าจะสามารถช่วยจูงใจให้เกิดการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 4 ของปีเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ ผลสำรวจระบุว่า โครงการภาครัฐฯ ช่วยจูงใจให้ครัวเรือนในกรุงเทพฯ ออกไปท่องเที่ยวได้ 30.7% โดยส่วนมากวางแผนท่องเที่ยวในเดือน ธ.ค.
แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ภาครัฐได้ออกมาประกาศเปิดประเทศโดยมีเป้าหมายเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว (สำหรับประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ) ในเดือน พ.ย.2564 รวมถึงจะมีการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ในประเทศต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป
แต่ในระยะข้างหน้า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีความเปราะบาง โดยมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากสถานการณ์น้ำท่วมที่สถานการณ์ยังไม่สิ้นสุด ราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่ความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 ยังคงมีอยู่ ภาครัฐจึงควรช่วยเร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่ทุกภาคส่วน เช่น มาตรการป้องกันความเสี่ยงจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ชัดเจน เป็นต้น
อ่านข่าวเพิ่มเติม
นายกฯ นับถอยหลัง 2 สัปดาห์เปิดประเทศ ขอทุกฝ่ายร่วมมือให้ทันเวลา
ตร.รวบพระอ้างเป็นโมเดลลิง ลวงเด็กหญิงถ่ายรูปอนาจาร
รถแหกโค้งหาดกะหลิม จ.ภูเก็ต 3 คันในรอบสัปดาห์
ข้าวของเสียหาย! สำรวจบ้าน "ชุมชนนาฏศิลป์" หลังน้ำลด