กรณีเพจเฟซบุ๊กกระดาน บอกบุญ หล่อพระ โพสต์ข้อความเชิญชวนว่า ไถ่ชีวิตงู 500 ชีวิต ขอคนละแชร์ เนื้อหาระบุว่า ครั้งเดียวครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลายร้อยปี ช่วยชีวิตงูท้อง 500 ชีวิต จากการถูกฆ่าเป็นอาหาร ใช้งบประมาณในการไถ่ชีวิต 301,000 บาท ปล่อยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่ สามารถร่วมบุญตามจิตศรัทธา หรือรับเจ้าภาพกองละ 10,000 บาท รับเพียง 30 กองเท่านั้น พร้อมทั้งปิดรับวันที่ 30 ต.ค.นี้
วันนี้ (15 ต.ค.2564) นายนุวรรต ลีลาพตะ รองหัวหน้าชุดปฎิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่า หรือชุดเหยี่ยวดง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ชุดเหยี่ยวดง ตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว ทางแม่ชี ผู้ที่โพสต์ขอรับบริจาค ระบุว่า ตั้งใจจะช่วยเหลือคนที่ฟาร์มเพาะเลี้ยงงู แห่งหนึ่งใน จ.เชียงราย ที่เจอปัญหาขายงู
โดยระบุว่า เป็นงูสิง ที่ฟาร์มเพาะเลี้ยงไว้ เกิดสถานการณ์ COVID-19 ขายไม่ออก ไม่มีอาหาร และไม่สามารถเลี้ยงงูได้อีก จึงอยากจะช่วยเหลือด้วยการรับบริจาคเงิน และจะนำงู 500 ตัว ไปปล่อยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เพราะไม่รู้ว่าห้ามนำงูไปปล่อย
เบื้องต้นทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 จ.เชียงใหม่ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับแม่ชี ที่เป็นคนโพสต์ขอรับบริจาคเงินดังกล่าวแล้วว่า การนำงูไปปล่อยในป่าอนุรักษ์ ถือว่ามีความผิด แต่เนื่องจากยังไม่ได้ทำผิดเกิดขึ้น เพราะยังไม่ได้ซื้องูและนำงูไปปล่อย จึงทำได้แค่การให้ข้อมูล ซึ่งแม่ชีเข้าใจและได้ลบโพสต์ขอเปิดรับเงินไปไถ่งูท้องแล้ว
แม่ชีเข้าใจแล้วว่า เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ก็จะลบโพสต์การขอรับบริจาคไถ่ชีวิตงู แต่เงินที่มีการโอนเข้ามาในบัญชีแล้ว ผู้เปิดรับบริจาค ต้องหาทางจัดการกับเงินที่โอนเข้ามา
นายนุวรรตกล่าวว่า งูสิง เป็น 1 ในชนิดงูในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่อนุญาตให้เพาะขยายพันธุ์ได้ แต่เท่าที่รู้ส่วนใหญ่ งูสิง ยังมีคนบริโภค และอาจจะดื่มเลือดงูสดๆ
เอาผิดแม่ชีไม่ได้-ฟาร์มงูได้ใบอนุญาต
ด้านนายบุญยัง ศรีจันทร์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สอบถามแม่ชี ซื้อจากสถานเพาะเลี้ยงงู เป็นงูสิงที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้ กรณีนี้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วยเพราะกลัวอันตราย
หลังพูดคุยทำความเข้าใจ แม่ชียุติโครงการไป กระทั่งกระแสโซเชียลและชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วย
ส่วนงูที่อ้างว่าท้อง 500 ตัวนั้น นายบุญยัง กล่าวว่า จากการตรวจสอบน่าจะมีไม่ถึง 500 ตัว เป็นไปได้แค่ 100 ตัวเท่านั้น โดยงูบางส่วนจะซื้อจากฟาร์มเลี้ยงงู ที่ตรวจสอบแล้วมีใบอนุญาต
เป็นช่วงระดมทุนจัดซื้องู แต่ยังไม่มีการซื้อ แม่ชีจึงยังไม่มีความผิด เบื้องต้นเป็นการตักเตือนก่อน และระงับห้ามทำโครงการลักษณะนี้เด็ดขาด
จี้พศ.ตรวจสอบเงินบริจาคที่โอนเข้า
นายบุญยังกล่าวอีกว่า ส่วนเงินที่มีการบริจาคไปแล้วโอนเข้าบัญชี จะมีความผิดหรือไม่ เป็นหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ตรวจสอบ ที่ผ่านมาทางภาคเหนือยังไม่เคยมีการรับบริจาคเงินปล่อยงู แต่ทางภาคอีสาน เคยมีสำนักสงฆ์ที่รับบริจาคเงินซื้องูในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองมาแล้ว และถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เพราะถือว่าเป็นความผิดสำเร็จ
นอกจากนี้ขอเตือนว่า การปล่อยสัตว์ป่าทุกชนิดจะต้องศึกษาวิจัยเพื่อไม่ให้กระทบต่อสัตว์ป่าในพื้นที่ และกรมอุทยานฯ ห้ามเด็ดขาด ห้ามนำสัตว์ป่าไปปล่อยในป่าอนุรักษ์
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อ้างรับบริจาคเงิน 3 แสนไถ่งูท้อง 500 ชีวิต ปล่อยป่า "เชียงดาว"