ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

The EXIT : ช่องโหว่กฏหมายนำเข้าขยะพลาสติก

สิ่งแวดล้อม
16 ต.ค. 64
11:38
955
Logo Thai PBS
The EXIT : ช่องโหว่กฏหมายนำเข้าขยะพลาสติก
ข้อมูลจากกรมศุลกากรที่พบยังมีเศษพลาสติกคงค้างในระบบกว่า 600,000 ตัน รวมถึงพบการนำเข้าเศษพลาสติกในเขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรี ทำให้กลุ่มคัดค้านการนำเข้าเศษพลาสติกตั้งคำถามว่าการผลักดันให้ยุติการนำเข้าเศษพลาสติกภายในปีนี้จะเป็นจริงได้หรือไม่

ต้นเดือนกันยายน 2564 เป็นอีกครั้งที่ผู้ประกอบการซาเล้ง และ ร้านรับซื้อของเก่า รวมตัวคัดค้านการนำเข้าเศษพลาสติกพิกัดศุลากรที่ 3915 จากต่างประเทศ

หนึ่งในประเด็นที่พวกเขาเรียกร้องมาตลอด คือ ยุตินำเข้าเศษพลาสติกในเขตปลอดอากร เพราะมีข้อมูลว่า หลังจาก กรมโรงงานอุตสาหกรรมยกเลิกให้มีการนำเข้าเศษพลาสติก ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 เป็นต้นมา ยังพบมีการนำเข้าเศษพลาสติกกว่า 85,000 ต้น ในพื้นที่เขตปลอดอากร และเขตประกอบการเสรี

เศษพลาสติก 85,000 ตัน เข้ามาได้อย่างไร ?

ดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้ความเห็นว่า ประกาศของกรมศุลกากร ที่ 59/2564 ที่ให้ยกเลิกความในข้อ 1 แห่งประกาศกรมศุลกากรที่ 114/2561 เรื่อง การกำหนดประเภทหรือชนิดแห่งของที่จะนำเข้าไปในเขตปลอดอากรและการควบคุมของที่มีความเสี่ยง เป็นการเปิดช่องว่างให้นำเข้าเศษพลาสติกได้ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์

 

ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า ปี 2564 มีโรงงานขอนำเข้าเศษพลาสติก 53 โรงงาน ในจำนวนนี้ มี 9 โรงงานอยู่ในเขตปลอดอากร อีก 1 โรงงานอยู่ในเขตประกอบการเสรี ที่เหลืออีก 43 โรงงาน ไม่มีข้อมูลว่าดำเนินกิจการในพื้นที่ใด

 

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ ยังระบุว่า ตั้งแต่ปี 2560 - 2564 ที่มีการประกาศเขตปลอดอากรเพิ่มขึ้นถึง 40 แห่ง มีโรงงานกลุ่มพลาสติกจำนวนหนึ่งย้ายเข้าไปในเขตปลอดอากร และเขตประกอบการเสรี สถานการณ์นี้ นำไปสู่การเรียกร้องให้ยุติการนำเข้าเศษพลาสติกครอบคลุมไปถึงเขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรี

ตอนนี้กรมศุลกากรรับผิดชอบเขตปลอดอากร กับ เขตประกอบการเสรี ซึ่งพลาสติกสามารถเข้าไปได้ใน 2 เขตนี้ ถ้าไม่อนุญาตให้นำเข้ามาในประเทศไทย ต้องไม่อนุญาตให้เข้ามาในทั้ง 2 เขตนี้ด้วย

ขยะ 655,990 ตันที่คงค้างอยู่ที่ไหน ?

ข้อมูลจากกรมศุลกากร ระบุว่า เศษพลาสติก พิกัดศุลกากร 3915 ที่นำเข้าในช่วงปี 2561 - 2564 มีปริมาณ 1,111,323.52 ตัน ในจำนวนนี้มีการส่งออกในพิกัดเดียวกัน 455,333 ตัน  ขณะนี้ จึงมีเศษพลาสติกที่ยังคงค้างอยู่ในระบบกว่า 655,990 ตัน  ทำให้มูลนิธิบูรณะนิเวศ สมาคมซาเล้งรวมถึงผู้ประกอบการร้านรับซื้อของเก่า ตั้งคำถามว่า เศษพลาสติกคงค้างอยู่ที่ไหนบ้าง 

จากข้อมูลการนำเข้าส่งออกเศษพลาสติกในพิกัดศุลกากรที่ 3915  พบว่า นำเข้ามากที่สุดจากประเทศญี่ปุ่น  และ ส่งออกเศษพลาสติกในพิกัดเดียวกันไปยังประเทศเมียนมามากที่สุด  

 

มูลนิธิบูรณะนิเวศตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นไปได้ว่า มีการนำเข้าเศษพลาสติกสกปรกจากต่างประเทศเข้ามาทำความสะอาดที่ไทย และส่งเศษพลาสติกสะอาดไปรีไซเคิลที่ประเทศอื่น โดยเฉพาะการนำเข้าในพื้นที่ปลอดอากรและเขตประกอบการเสรี ที่บังคับให้สินค้าที่นำเข้ามานั้นต้องส่งออกไปขายในต่างประเทศเท่านั้น  ประเทศไทยจึงอาจกลายเป็นแค่โรงซักขยะ 

สิ่งที่ภาคประชาชนต้องการ 

ข้อเสนอสำคัญจากภาคประชาสังคม คือ ให้รัฐประกาศนโยบายห้ามนำเข้าเศษพลาสติกภายในสิ้นปี 2564  แก้ไขกฎหมายในเขตประกอบการเสรีและกฎหมายเขตปลอดอากร โดยห้ามการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ แต่ให้ใช้เศษพลาสติกในประเทศแทน และ ให้นำเข้าเฉพาะ“เม็ดพลาสติก” สำเร็จรูปพร้อมนำไปผลิตเป็นชิ้นงานเท่านั้น ผู้ประกอบการต้องได้รับการรับรอง ISO14001 เป็นขั้นต่ำ และต้องมีหลักฐานแสดงเพื่อพิสูจน์ว่าข้อมูลเหล่านี้มีความสอดคล้องกันตามความเป็นจริง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง