ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ตัวเปลี่ยนเกม" กุนซือ-มือกฎหมาย สู่เจ้าของสูตร "ไพบูลย์โมเดล"

การเมือง
20 ต.ค. 64
11:34
342
Logo Thai PBS
"ตัวเปลี่ยนเกม" กุนซือ-มือกฎหมาย สู่เจ้าของสูตร "ไพบูลย์โมเดล"
เปิดช่องของ รธน. เมื่อ "ไพบูลย์" ใช้สูตรหาช่องยุบพรรค-ย้ายซบ พปชร. กระทั่งฝ่ายค้านยื่นฟ้องและเตรียมวินิจฉัยวันนี้ พร้อมย้อนเส้นทาง "ไพบูลย์" ตั้งแต่ยุค 40 ส.ว. สู้่มือกฎหมาย พปชร. ในปัจจุบัน

“ปล่อยวาง” เป็นคำตอบของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน หลังจากพิธีรายการตอบโจทย์ ถามว่าการยุบพรรคตนเองเป็นคำสอนข้อใดของพระพุทธเจ้า

เหตุที่ถูกค่อนแคะเรื่องนี้ เพราะพรรคประชาชนปฏิรูปมีคำขวัญที่ติดหู คือ “น้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา 'ทุกข์ร้อน' ให้กับประชาชน คืองานของพรรคประชาชนปฏิรูป"

 

การยุบพรรคเมื่อ ส.ค. ปี 2563 เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฝ่ายค้านยื่นสอบ นายไพบูลย์ กรณียุบพรรคตัวเอง แล้วย้ายเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเข่าข่ายเป็นการควบรวมกิจการพรรคหรือไม่ หากผิดจริงต้องพ้นจาก ส.ส. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้กระจ่าง 15.00 น. วันนี้

1.“ลอดช่อง” ของกฎหมาย เลิกพรรค = ยุบพรรค

รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้ ส.ส.ย้ายพรรคใน 2 กรณี คือ 1.กรรมการบริหารพรรคหรือ ส.ส. มีมติขับพ้นพรรค ต้องสังกัดพรรคใหม่ใน 30 วัน และ 2.พรรคถูกสั่งยุบ ต้องสังกัดพรรคใหม่ใน 60 วัน แต่กรณี “ขอยุบพรรค” รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ตรงๆ แต่มีช่องใน พรป.พรรคการเมือง

นายไพบูลย์ ไม่ได้ “ขอยุบพรรค” แต่ “ขอเลิกพรรค” ซึ่ง พรป.พรรคการเมือง ม.91 (7) กำหนดให้พรรคสิ้นสภาพ เมื่อ “เลิกตามข้อบังคับพรรค” และเขียนเพิ่มใน วรรค 4 ว่า "เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสมาชิกที่เป็น ส.ส. ให้ถือว่าการสิ้นสภาพของพรรคการเมืองตามมาตรานี้ เป็นการถูกยุบพรรคการเมือง"

ขณะที่ “ข้อบังคับ” ของพรรคประชาชนปฏิรูปที่ นายไพบูลย์ ก่อตั้ง มีข้อกำหนด ข้อ 122 ระบุว่า “ให้การยกเลิกพรรคเป็นไปตามมติของกรรมการบริหาร”

 

นายไพบูลย์ จึงอาศัยมติกรรมการบริหารพรรค “ขอเลิกพรรค” ในวันที่ 2 ส.ค.2562 โดยให้เหตุผลว่ามีกรรมการบริหารบางส่วนไม่อยากทำพรรคต่อ เพราะเสียเงิน-เสียเวลา เป็นงานอาสา เข้าเงื่อนไข “การยุบพรรค” ตาม พรป.พรรคการเมือง ซึ่งทำให้ นายไพบูลย์ ต้องย้ายพรรคใหม่ใน 60 วัน ซึ่ง 3 วัน หลังการยุบพรรค นายไพบูลย์ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทันที

"ทุกอย่างมันคือความไม่เที่ยง อนิจจตา อย่าไปยึดมั่นถือมั่น" นายไพบูลย์กล่าว

2.ไม่ใช่ “เจตนารมณ์” ของรัฐธรรมนูญ

แหล่งข่าวซึ่งมีส่วนในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญยอมรับว่า รัฐธรรมนูญมี “ช่อง” ให้ทำได้ แต่ไม่ใช่ “เจตนารมณ์” ของผู้ร่างที่จะให้เกิด“ไพบูลย์โมเดล” ส่วนสาเหตุที่เขียนไว้คุ้มครอง ส.ส. ต้องการคุ้มครองความเป็น ส.ส. ใน 2 กรณี

1. ไม่ให้ ส.ส.ถูกกลั่นแกล้งจากพรรค เช่น อดีตเคยมีพรรคสั่งขับ ส.ส.พ้นพรรค เพราะ ส.ส.ไม่ยอมทำตามมติพรรค แม้จะเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ตาม ซึ่ง ส.ส.พ้นจากความเป็น ส.ส.ทันที

2. กรณีศาลสั่งยุบพรรคด้วยเหตุผลใดๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญต้องการคุ้มครอง ส.ส. เพราะเห็นว่า ส.ส.เป็นผู้ได้รับเลือกจากประชาชน

 

ทั้งนี้หากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ แนวทางการวินิจฉัยเป็นไปได้ 2 แนวทาง ได้แก่ 1.การตีความกฎหมายอย่างเข้มงวด “ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ” พิจารณาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการคุ้มครอง ส.ส. ที่ถูกสั่งยุบพรรค ไม่ใช่การจงใจยุบพรรคตนเอง ซึ่งกรณีนี้ นายไพบูลย์ ต้องพ้นจากความเป็น ส.ส.

2. การตีความกฎหมายแบบ “ยืดหยุ่น” เพราะ รธน. มี “ช่องว่าง” ให้ดำเนินการตามแนวทางของ นายไพบูลย์ หรือ “ไพบูลย์โมเดล” ได้ ซึ่ง นายไพบูลย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ต่อไป

หากตีความตามแนวทางที่ 2 จะมีประเด็นให้พิจารณาต่อ 1.คะแนนจากพรรคเดิมติดตัว นายไพบูลย์ ไปด้วยหรือไม่ 2.นายไพบูลย์ กลายเป็น ส.ส.นอกบัญชี ไม่ว่าคะแนนพรรคจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ไม่มีผลต่อสถานะ ส.ส. และ 3.ถ้า “ไพบูลย์โมเดล” ทำได้ พรรคเล็กที่มี ส.ส.น้อย ทำตามได้หรือไม่

3.“ไพบูลย์” มือกฎหมาย-ตัวเปลี่ยนเกม

ย้อนหลัง 10 ปี ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายไพบูลย์ มีชื่อเสียงในฐานะ “กลุ่ม 40 ส.ว.” ซึ่งเป็น ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2550

ช่วงที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ อยู่ใน “ช่วงเปราะบาง” นายไพบูลย์ เป็นผู้ยื่นร้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ รักษาการนายกฯ ในเวลานั้น ใช้อำนาจโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนสี เลขา สมช. ไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นตำแหน่งนายกฯ

และถัดจากนั้นการเมืองไทยได้เข้าสู่โหมด “สุญญากาศ” ทางการเมือง ก่อน คสช.เข้ามา “Set Zero” และยังเซ็ตมาจนถึงทุกวันนี้

 

ช่วงที่รัฐบาล คสช.กำลังตั้งไข่ นายไพบูลย์ ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. และเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในเวลาต่อมา ทว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ นายไพบูลย์ ร่วมยกร่าง “ถูกแท้ง” โดย คสช. เช่นกัน

ซึ่งครึ่งหลังของ คสช. นายไพบูลย์ไม่ได้ไปต่อ แต่มาปรากฏชื่ออีกครั้งตอนตั้ง “พรรคประชาชนปฏิรูป” ที่ส่ง นายไพบูลย์ เข้าสภาฯ เป็น “ส.ส.สมัยแรก”

ชื่อชั้นความเป็น “มือกฎหมาย” ของนายไพบูลย์ ไม่จบเท่านั้น ช่วงการเสนอชื่อนายกฯ นายไพบูลย์ เป็นผู้ยื่อคำร้องต่อ กกต. กรณีพรรคไทยรักษาชาติมีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง และสุดท้ายพรรคนี้ถูกยุบ

 

ข้ามช็อต! หลัง นายไพบูลย์ ย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ เขายังทำหน้าที่เป็นมือกฎหมายเช่นเดิม และเข้าสู่วงการแก้ไข "รัฐธรรมนูญ" อีกครั้ง ในตำแหน่งเป็นประธาน กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญที่เพิ่งผ่านสภาฯ

และกำลังจะมีส่วนสำคัญในการยกร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส. ขณะที่อีกบทบาทหนึ่ง นายไพบูลย์ ยังเป็น “รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ” รับผิดชอบงานด้านกฎหมาย เคียงคู่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง