วันนี้ (20 ต.ค.2564) นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ตามที่ในวันที่ 15 ธ.ค. 2564 จะครบกำหนดการขึ้นค่าผ่านทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตามสัญญาสัมปทานกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม (BEM) หลังจากเปิดให้บริการมาแล้วกว่า 5 ปี หรือตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2559 ที่ผ่านมา
จากเดิมอัตราค่าผ่านทางรถยนต์ขนาด 4 ล้อ ราคา 50 บาท จะปรับขึ้นเป็น 65 บาท, รถยนต์ขนาด 6-10 ล้อ ราคา 80 บาท จะปรับขึ้นเป็น 105 บาท และรถยนต์ขนาด 10 ล้อขึ้นไป ราคา 115 บาท จะปรับขึ้นเป็น 150 บาท ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าผ่านทางดังกล่าวนั้น เป็นไปตามสัญญาสัมปทานกำหนดไว้
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า บอร์ดได้มีข้อสั่งการมายังฝ่ายบริหารของ กทพ. เนื่องจากกระทรวงคมนาคมมีความความห่วงใยเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนในการปรับขึ้นค่าผ่านทางครั้งนี้ เนื่องจากอยู่ในช่วงสถานการณ์การการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จึงสั่งการให้ฝ่ายบริหารของ กทพ.ให้ไปหารือกับบริษัทคู่สัญญา หรือ BEM เพื่อหามาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้ทาง หรือเยียวยาประชาชนได้อย่างไรบ้าง เช่น อาจจะเป็นการชะลอการขึ้น หรือการจัดแคมเปญพิเศษเพื่อจูงใจให้ประชาชนรู้สึกว่ายังได้รับการใส่ใจดูแล
ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า เมื่อบอร์ดรับทราบแล้ว ได้สั่งการให้ กทพ.ไปทำการบ้านต่อ หลังจากนี้จะมีการเชิญทาง BEM มาพูดคุยอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการการหารือกันแล้ว ซึ่ง BEM ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ยังคิดแคมเปญไม่ทัน แต่ได้พิจารณาว่าเยียวยาหรือช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร
กทพ.เข้าใจถึงเหตุผลตรงนี้เนื่องจากที่ผ่านมา BEM ก็ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปริมาณรถที่ผ่านทาง ตามสัญญาคาดการณ์ปริมาณรถที่ใช้บริการ 80,000 คัน แต่ใช้บริการเพียง 50,000 คัน ส่วนรายได้หายไปเกือบ 50% โดยภายในสัปดาห์หน้าจะนัด BEM มาหารืออีกครั้ง เพื่อนำเสนอให้บอร์ด กทพ.พิจารณา คาดว่าภายในต้นเดือน พ.ย.นี้จะต้องได้ข้อสรุปทั้งหมด
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า มีความชัดเจนแล้วว่า วันที่ 15 ธ.ค.นี้จะปรับขึ้นค่าผ่านทางสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ส่วนจะขึ้นหรือไม่ขึ้นนั้น ก็ขึ้นอยู่กับผลเจรจากัน ต้องอย่าลืมว่าเรามีบทเรียนในการขึ้นค่าผ่านทางในอดีตมาแล้ว ถ้าแข็งขืนหรือไม่ทำตามสัญญาสัมปทานแล้วจะถูกฟ้องร้องค่าโง่ เราต้องระวังในเรื่องนี้ ยอมรับว่าหนักใจมากๆ กับเรื่องนี้ เนื่องจากต้องปฎิบัติตามสัญญา ซึ่งเอกชนเองก็ได้รับความเดือดร้อน เพราะฉะนั้นการที่เราไปขอให้คนที่เขาได้รับความเดือดร้อนมาช่วยเหลือคนเดือดร้อนก็ต้องมีวิธีการจูงใจ แต่จะพยายามพูดคุยเจรจาหาทางออกที่ดีที่สุด ต้องหาข้อมูลมานั่งคุยกันอย่างละเอียด