วันนี้ (25 ต.ค.2564) นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวถึงแผนวิสัยทัศน์พัฒนาเมืองพัทยา พ.ศ.2566 - 2570 ว่า ขณะนี้เมืองพัทยาถือเป็นพื้นที่มีศักยภาพสูง ทั้งในมิติการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และนวัตกรรมแห่งอนาคต โดยระยะ 5 ปีข้างหน้าคาดว่า จะมีเม็ดเงินลงทุนมากโดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถึง 2.2 ล้านล้านบาท การลงทุนต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ สู่ความเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน และอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) รวมถึงโครงการยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของชุมชนและประชาชนในพื้นที่อีกมาก
แผนพัฒนาเมืองพัทยาระยะ 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2566-2570) ถือว่า สำคัญต่อทิศทาง บทบาท ภารกิจ ไปสู่ยุทธศาสตร์และการปฏิบัติ ต่อเนื่องจากแนวทาง NEO Pattaya โดยพร้อมนำพัทยาสู่เป้าหมายวิสัยทัศน์ใหม่ในการเป็น “เมืองแห่งโอกาส เศรษฐกิจสมดุล คุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคน” ซึ่งมหาวิทยาลัยบูรพาในฐานะที่ปรึกษาและดำเนินการยกร่างแผนดังกล่าวสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศทั้งระดับมหภาคและจุลภาค เปิดรับฟังความต้องการและความร่วมมือของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
“เมืองพัทยาพร้อมเป็นผู้นำวิสัยทัศน์พลิกโฉมสู่อนาคต เราประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อน NEO Pattaya ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อาทิ มีการแก้ปัญหาระบบการระบายน้ำที่รวดเร็ว และวิกฤต COVID-19 เมืองพัทยามีระบบสาธารณสุขแข็งแกร่งรับมือได้ดี วันนี้เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ถึงเวลาแล้วที่จะก้าวไปข้างหน้า คือ ร่างแผนพัฒนาเมืองพัทยาปี 2566-2570 เพื่อเพิ่มโอกาส ดึงดูดผู้คนมาใช้ชีวิต ยกระดับธุรกิจท่องเที่ยวอุตสาหกรรม ร่วมกันสร้างเศรษฐกิจที่สมดุลและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน”
ทั้งนี้ ร่างแผนพัฒนาเมืองพัทยา (พ.ศ.2566-2570) ผ่านเวทีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง โดยล่าสุดมีผู้เข้าร่วมรับฟังมากกว่า 200 คน แบ่งเป็น ผู้นำชุมชนจำนวน 42 แห่ง กลุ่มหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ กลุ่มสมาคม/ชมรมผู้ประกอบการท้องถิ่น กลุ่มส่วนราชการการเมืองพัทยา และกลุ่มสื่อมวลชน ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนการขับเคลื่อนแผนดังกล่าวไปสู่ภาคปฏิบัติเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจเมืองพัทยาให้ก้าวไปสู่เมืองชั้นนำระดับนานาชาติ
ด้าน ดร.กฤษนัยน์ เจริญจิตร ผู้จัดการโครงการร่างแผนพัฒนาเมืองพัทยา (พ.ศ.2566-2570) กล่าวว่า สำหรับวิสัยทัศน์ “เมืองแห่งโอกาส เศรษฐกิจสมดุล คุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคน” มีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม เคารพความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรม ขับเคลื่อนนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ คำนึงถึงมิติความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาวะ การศึกษาและรายได้ สภาพแวดล้อมเหมาะในการอยู่อาศัย ชุมชนปลอดภัย การคมนาคมที่สะดวก ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคม
ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่
1.ยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีและความปลอดภัยสำหรับทุกคน เมืองแห่งการศึกษาที่ทันสมัยมีมาตรฐานสากล ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในสถานะหุ้นส่วนของการพัฒนา ยกระดับการจัดบริการสวัสดิการสังคม ดูแลกลุ่มเปราะบาง การจัดระเบียบสังคม เช่น หาบเร่แผงลอย กลุ่มค้ามนุษย์ กลุ่มค้าสิ่งเสพติด กลุ่มคนเร่ร่อน ประชากรแฝง และอาชญากรข้ามชาติ เป็นต้น
2.ยุทธศาสตร์การยกระดับประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐาน รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พัฒนาระบบขนส่งมวลชนเมืองพัทยาเชื่อมต่อการขนส่ง ทางบก ทางรางและทางทะเล ให้มีมาตรฐานและประสิทธิภาพ เช่น รถไฟฟ้ารางเบา ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แพลตฟอร์มกลางและระบบสารสนเทศด้านบริหารและบริการ
3.ยุทธศาสตร์การส่งเสริมนวัตกรรมทางเศรษฐกิจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ เช่น บุคลากร โรงพยาบาล อุปกรณ์ทางการแพทย์ และระบบสารสนเทศสาธารณสุข เพื่อให้เมืองพัทยาเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพที่ทันสมัยแห่งภาคตะวันออก และมุ่งไปสู่การพัฒนาระบบการแพทย์ระดับนานาชาติ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
4. ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้แก่ การยกระดับการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค-น้ำท่วม ความต้องการของภาคบริการและอุตสาหกรรม การอนุรักษ์ ฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ เช่น แนวชายหาด แนวปะการัง สวนสาธารณะ หมู่เกาะ และป่าไม้ การจัดการขยะและของเสียอย่างเป็นระบบลดการตกค้างขยะในชุมชน
5. ยุทธศาสตร์การยกระดับการบริหารเมืองพัทยาเป็นองค์กรที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง เพื่อทำให้การปฏิบัติงานของเมืองพัทยามีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าถึงอย่างสะดวกและโปร่งใส การปรับปรุงระบบการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับเมืองพัทยา ฯลฯ