วันนี้ (2 พ.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนเห็นตรงกันว่า หากจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้จริง นอกจากจะต้องลดการตัดไม้ทำลายป่าแล้ว ยังต้องหันมาจัดการกับภาคพลังงาน เกษตรกรรม ก่อสร้าง คมนาคมและอุตสาหกรรม
"พลังงาน" ถือเป็นกุญแจสำคัญที่สุด เพราะเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าร้อยละ 70 ของทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้ ครึ่งหนึ่งเกิดจากการผลิตกระแสไฟฟ้า
ดังนั้น หากควบคุมภาคการผลิตนี้ได้ ก็จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไปได้มาก ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมากมาย เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม แม้จะมีทางออกให้เห็น แต่เมื่อปฏิบัติจริงกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด
พลังงานถ่านหินถือเป็นตัวร้ายที่สุด โดยร้อยละ 40 ของกระแสไฟฟ้าที่ทั่วโลกใช้ทุกวัน มาจากถ่านหิน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตต้องใช้ทั้งเงินทุนและเทคโนโลยี รวมทั้งยังมีประเด็นทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง
จึงไม่แปลกที่การประชุมผู้นำ G20 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนเท่าใดนัก โดยระบุแต่เพียงว่าจะเลิกใช้ถ่านหินเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่จะเป็นเมื่อไหร่นั้น กลับไม่มีใครบอกได้
"จีน" ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีมากที่สุด
แม้ว่าเรื่องโลกร้อนจะเป็นปัญหาของทั้งโลก ซึ่งแน่นอนว่าประเทศที่ปล่อยคาร์บอนมากกว่า ย่อมต้องเข้ามามีบทบาทในเวทีนี้มากกว่าชาติอื่นๆ เพื่อจำกัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลจากฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อการวิจัยบรรยากาศโลก ชี้ว่า "จีน" เป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีมากที่สุดของโลก มากกว่าสหรัฐอเมริกากว่า 1 เท่าตัว ตามมาด้วยสหภาพยุโรป อินเดียและรัสเซีย
แต่การที่ผู้นำจีนและรัสเซียไม่ได้เดินทางมาประชุม โดยเลือกเข้าร่วมแบบออนไลน์แทน สร้างความผิดหวังให้กับหลายฝ่ายที่ต้องการคำมั่นจากผู้นำทั้งสอง เพราะการหารือแบบเจอหน้ากัน ย่อมมีน้ำหนักมากกว่า และการบรรลุเป้าหมายแก้ปัญหาโลกร้อนไม่สามารถสำเร็จได้ หาก 2 ประเทศนี้ไม่ร่วมมือด้วย
ความคาดหวังส่วนใหญ่ในเวทีนี้จึงตกอยู่ที่ "อินเดีย" หากสามารถจูงใจให้อินเดียประกาศตัดลดการปล่อยคาร์บอนได้ เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มแรงกดดันต่อจีนและชาติอื่นๆ ด้วย ล่าสุดผู้นำอินเดียประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือปล่อยเท่ากับที่กำจัดได้ ไม่ให้เหลือเป็นภาระกับโลก ภายในปี 2070 ช้ากว่าเป้าหมายจีน 10 ปี และช้ากว่าเป้าหมายของ COP26 ถึง 20 ปี
ดังนั้นจะใช้วิธีใดจูงใจอินเดีย ซึ่งเงื่อนไขสำคัญฝากไว้ที่ประเทศร่ำรวย เพราะสิ่งที่คาดว่าจะจูงใจอินเดียได้ คือการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและเงินทุน แต่เรื่องเงินทุนคงไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายๆ เพราะปัจจุบันประเทศร่ำรวยยังไม่สามารถบริจาคเงินได้ตามเป้าที่ตั้งเอาไว้
เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ความตกลงปารีสถูกมองว่าเป็นความสำเร็จและก้าวสำคัญของการแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะทำให้จีนจับมือกับสหรัฐอเมริกาในประเด็นนี้ได้ แต่ผ่านมา 6 ปี ความสำเร็จดังกล่าวกลับยังไม่ไปถึงไหน
ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส
อ่านข่าวอื่นๆ
หยุดทำลายป่า! ภายในปี 2573 ข้อตกลงฉบับแรก COP26
"อินเดีย" ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2070
นายกฯ ประกาศต่อ COP26 ไทยพร้อมยกระดับแก้วิกฤตภูมิอากาศ