วันนี้ (4 พ.ย.2564) สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือ ข้อมูลล่าสุด สํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) รายงานว่า จากการใช้ข้อมูลภาพจากกลุ่มดาวเทียม Sentinel/ Radarsat/ Landsat วิเคราะห์พื้นที่ปลูกข้าวบริเวณภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงระหว่างวันที่ 25 ต.ค.-2 พ.ย.64
พบว่ามีพื้นที่ปลูกข้าวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง 1,189,406 ไร่ และยังคาดว่าจะมีพื้นที่ปลูกข้าวที่เสี่ยงว่าจะได้รับผลกระทบอีก 948,315 ไร่
สำหรับพื้นที่นาข้าวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากสุด จ.นครสวรรค์ 204,956 ไร่ นครราชสีมา 172,731 ไร่ มหาสารคาม 81,845 ไร่ พิจิตร 80,239 ไร่ ชัยภูมิ 64,863 ไร่ สุรินทร์ 61,619 ไร่ ร้อยเอ็ด 57,069 ไร่ ชัยนาท 43,640 ไร่ ลพบุรี 42,742 ไร่ บุรีรัมย์ 32,305 ไร่ ศรีสะเกษ 31,940 ไร่ เพชรบูรณ์ 31,365 ไร่ สุพรรณบุรี 30,381 ไร่ กาฬสินธุ์ 25,553 ไร่ สุโขทัย 23,371 ไร่
ทั้งนี้ข้อมูลภาพจากดาวเทียมเหล่านี้ GISTDA จะส่งต่อให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบและที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการบริหารจัดการตามภารกิจ ทั้งด้านการวางแผน การติดตาม การประเมินสถานการณ์ และการฟื้นฟูความเสียหายต่อไป
ทั้งนี้กรมชลประทาน รายงานว่า ขณะนี้ยังมีสถานการณ์อุทกภัยจำนวน 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ร้อยเอ็ด ยโสธรนครราชสีมา อุบลราชธานีพิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรีอ่างทอง ชัยนาท ลพบุรีนนทบุรีสุพรรณบุรี นครปฐม และอุทยธานี
พัฒนากว๊านพะเยา-เวียงหนองหล่ม เพิ่มน้ำต้นทุน
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานเตรียมพัฒนาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ จ.พะเยา รวม 4 โครงการ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยรู ระยะเวลาดำเนินงาน 10 ปี (ปี 2559-2568) โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ ระยะเวลาดำเนินงาน 8 ปี (ปี 2562-2568) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เมาะ และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทราย อยู่ในระหว่างการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้และอุทยาน
สำหรับโครงการพัฒนาอนุรักษ์ และฟื้นฟูกว๊านพะเยา ได้รับการจัดสรรงบกลางปี 2564 เพื่อขุดลอกคลองระบายน้ำรอบกว๊าน 0.24 ล้าน ลบ.ม. งานขุดลอกตะกอนดิน 0.857 ล้าน ลบ.ม. และงานอาคารประกอบต่างๆ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปี 2567
ส่วนแผนฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม มีแผน 4 ปี (2565-2568) โดยปี 2565 จะขุดลอกตะกอนดิน 2 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 1,430 ไร่ พร้อมก่อสร้างอาคารระบายน้ำ 2 แห่ง ฝายทดน้ำและระบบส่งน้ำ ความยาว 11 กม. พื้นที่รับประโยชน์ 2,400 ไร่ ทั้งยังสามารถผันน้ำไปเติมในหนองได้อีก 15 ล้าน ลบ.ม./ปีอีกด้วย