ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

The EXIT : สางปมสารเคมีเกษตรลำน้ำย่าง

Logo Thai PBS
The EXIT : สางปมสารเคมีเกษตรลำน้ำย่าง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เป็นครั้งแรก ที่มีคำตอบและแนวทางชัดเจนในการบริหารจัดการปัญหาสารเคมีเกษตรปนเปื้อนลำน้ำย่าง อ.ปัว จ.น่าน อย่างเป็นรูปธรรม หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบมานานเกือบ 6 ปี

ข้าวโพดป่าต้นน้ำ ชนวนพิพาทสารเคมีเกษตรลำน้ำย่าง 

 

ลำน้ำย่างพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำน่าน หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน และพื้นที่เกษตรกรรม ใน 2 อำเภอ คือ อ.ปัว และ อ.ท่าวังผา จ.น่าน  ปัญหาพิพาทเริ่มจากพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านปางยาง อ.ปัว ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพดเป็นหลัก  

ชาวบ้านปางยางปลูกข้าวโพดใน 2 พื้นที่หลัก คือ โซนใกล้หมู่บ้าน สภาพพื้นที่เป็นภูเขามีความลาดชันสูง  ..ส่วนแปลงเกษตรกรณีพิพาทประเด็นสารเคมีเกษตรอยู่อีกโซนหนึ่ง ห่างจากหมู่บ้านราว 2 กม. โดยมีชาวบ้าน 16 คน เข้าทำประโยชน์ปลูกข้าวโพดพื้นที่กว่า 300 ไร่  

 

อุทยานแห่งชาติดอยภูคา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตรวจสอบร่องรอยการทำประโยชน์จากภาพถ่ายทางอากาศ ของกรมพัฒนาที่ดิน ตั้งแต่ปี 2532 เรื่อยมา พบร่องรอยการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินโดยการปลูกพืชไร่มาก่อน ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้าน 16 ครอบครัว จึงมีสิทธิโดยชอบธรรมในการใช้พื้นที่ทำกินดั้งเดิมได้  แต่หลังจาก เผชิญข้อพิพาทมานานหลายปี ทั้งหมดยินยอมคืนพื้นที่เพื่อปลูกป่า ฟื้นฟูสภาพแหล่งต้นน้ำ ขณะที่ รัฐรับปากดำเนินการปรับพื้นที่ทำกินโซนใกล้หมู่บ้าน พร้อมจัดหาระบบน้ำเข้าแปลงเกษตร และ สนับสนุนกล้าไม้ผลทดแทน

 

กว่าจะมาถึงบทสรุปของการมีข้อตกลงแก้ปัญหารเคมีเกษตรปนเปื้อนในลำน้ำย่าง อ.ปัว จ.น่าน เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ต้องใช้เวลากว่า 6 ปี ยังไม่นับระยะเวลาที่ชาวบ้านผู้ร้องเรียนเผชิญปัญหามาก่อนหน้านั้นรวมแล้วนับ 10 ปี

เดินหน้าข้อตกลงร่วม วางบทบาทหน่วยงานแก้ปัญหา

 

22 กันยายน 2564 เป็นครั้งแรกที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีคำตอบและแนวทางชัดเจนในการบริหารจัดการข้อร้องเรียนปัญหาสารเคมีเกษตรปนเปื้อนในลำน้ำย่าง หลังจากตรวจสอบมานานเกือบ 6 ปี โดยเรียกประชุมความคืบหน้าแนวทางแก้ปัญหา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนชาวบ้านกรณีพิพาท 2 ฝ่าย โดยมีอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ม.เชียงใหม่ ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำในลำน้ำย่าง 

พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว  ที่ปรึกษาอำนวยความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ระบุว่า ที่ผ่านมา มีการประชุมเรื่องนี้หลายครั้ง มีข้อสรุปแนวทางแก้ไข และเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเป็นคดีพิเศษ จึงมีโครงการอำนวยความเป็นธรรมเกิดขึ้น  โดยดีเอสเข้ามาเติมเต็ม มาขับเคลื่อนในส่วนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางอยู่แล้ว

 

ได้ข้อตกลงร่วมกันอย่างสมานฉันท์ ชาวบ้านที่ทำกินในป่ายอมถอยร่นออกมา ชาวบ้านพื้นราบก็เกิดความสบายใจขึ้น ส่วนราชการก็ให้งบประมาณสนับสนุนการแก้ปัญหาเป็นรูปธรรม ต่อไปก็จะมาติดตามเรื่องนี้ในทุกขั้นตอนจนเกิดผลสำเร็จ

นายธวัช มิสละ กำนัน ต.ศิลาเพชร อ.ปัว จ.น่าน ระบุว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านเพียงแต่กังวลว่าสายน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภค ทำการเกษตร ล้วนมาจากลำน้ำย่าง ที่ซึ่งป่าต้นน้ำในหุบเขาเขตอุทยานฯ มีชาวบ้านไม่ยอมคืนพื้นที่ทำกินเดิม ปลูกข้าวโพดใช้สารเคมีต้องห้ามหลายตัว ก็ร้องเรียนมานานหลายสิบปี ครั้งนี้ดูจะมีความหวังในการแก้ปัญหาอย่างปรองดองที่สุด

คุณภาพน้ำในลำน้ำย่าง อ.ปัว จ.น่าน อยู่ในเกณฑ์ดี

18 ต.ค. 2564 สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 แจ้งผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำลำน้ำย่าง 2 จุดเก็บตัวอย่างน้ำ คือบริเวณน้ำตกศิลาเพชร ฝายกั้นน้ำจุดแรก และจุดฝายนาดง เป็นฝายกั้นลำน้ำย่างอีกจุดหนึ่ง พบคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี ตามเกณฑ์มาตรฐานแหล่งน้ำผิวดินประเภท 3

 

 

ขณะนี้  ชาวบ้านปางยาง 16 คน ยินยอมคืนพื้นที่ให้อุทยานแห่งชาติดอยภูคาเพื่อปลูกฟื้นฟูป่าปรับสภาพต้นน้ำ และจะไม่เข้าไปทำประโยชน์ใดอีก โดยมีเงื่อนไขว่า รัฐต้องดำเนินการจัดหาระบบน้ำเข้าแปลงเกษตรและสนับสนุนกล้าไม้สำหรับปลูกในพื้นที่ทำกินของตนเองโซนใกล้หมู่บ้านปางยาง


สำหรับแนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมนั้นมีองค์การบริหารส่วนตำบลภูคา รับผิดชอบสำรวจพื้นที่และสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจัดหาท่อส่งน้ำเข้าแปลงเกษตร   ส่วนการจัดหากล้าไม้ให้กับชาวบ้านเป็นหน้าที่ของหน่วยจัดการต้นน้ำย่าง ดำเนินการให้ชาวบ้านเข้าร่วมโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ โดยการสนับสนุนกล้าไม้ป่าและกล้าไม้ผล นอกจากนี้โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางยาง จะสนับสนุนพันธุ์กล้าไม้เศรษฐกิจในอนาคต

 

พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ที่ปรึกษาอำนวยความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ บอกว่าจะติดตามการดำเนินการแก้ปัญหา ที่มีหน่วยงานรับผิดชอบในบทบาทต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อยุติปัญหาอย่างเป็นธรรม และชาวบ้านอยู่ได้ ซึ่งอาจใช้แนวทางนี้เป็นโมเดลจัดการปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง