วานนี้ (10 พ.ย.264) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับไรเดอร์ของเดลิเวอรี่ มีพฤติกรรมทำผิดกฎจราจร เช่น ฝ่าสัญญาณไฟแดง ขับรถย้อนศร ขับรถจักรยานยนต์บนทางเท้า การขับรถปาดซ้ายปาดขวา จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับบริษัทที่ให้บริการขนส่งด้านอาหารและสิ่งของ เครือข่ายด้านความปลอดภัยบนท้องถนน หารือและกำหนดมาตรการร่วมกัน เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน
เบื้องต้นเสนอให้บริษัทขนส่งเอกสาร และอาหารทั้งหมด เพิ่มหมายเลขบนชุดพนักงาน เพิ่มเติมจากสีเสื้อที่แบ่งแยกบริษัท เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบหลังเกิดเหตุ
จับปรับจริงเริ่ม 15 พ.ย.นี้ -เสนอศาลริบของกลาง
นอกจากนี้จะบังคับใช้กฎหมายเอาผิดทุกข้อหาที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ขับรถย้อนศร ขับรถบนทางเท้า และข้อหาขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ซึ่งเป็นข้อหาเดียวกับที่ใช้ดำเนินคดีกับแก๊งรถซิ่ง มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับ 2,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะเสนอศาลให้ริบรถของกลางด้วย
ตั้งแต่ 15 พ.ย.นี้ จะเพิ่มความเข้มงวดกวดขันวินัยจราจร เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งประสานกรมการขนส่งทางบก กรณีที่ได้รับใบสั่ง เพื่อไม่ให้ต่อภาษีรถยนต์ประจำปี จนกว่าจะเสียค่าปรับ
ขณะที่ยังมีอีก 5 แนวทางที่ใช้ควบคุมผู้ประกอบการ เช่น จับซึ่งหน้าเมื่อกระทำความผิด ส่งสายตรวจออกตรวจสอบในพื้นที่เสี่ยง ตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร ใช้กล้องของตำรวจ กล้องของกทม. และกล้องตำรวจทางหลวง ตรวจสอบหาการกระทำความผิด
นอกจากนี้ จะสร้างช่องทางให้ประชาชน ส่งคลิปกล้องหน้ารถ ที่บันทึกภาพเหตุการณ์การกระทำผิดกฎหมายจราจร และมีพฤติการณ์การขับขี่ที่ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนร่วมเป็นอาสาจราจรผ่านศูนย์โซเชียลมีเดีย ตร.ด้วย
"หนุ่มไรเดอร์" ขานรับจัดระเบียบ-ชี้ขึ้นกับสำนึกคน
ด้านนายคีชาภัทร แก้วมณีวงศ์ ไรเดอร์เดลิเวอรี่ส่งอาหาร ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า การทำเบอร์เสื้อให้ไรเดอร์ แบบเดียวกับเสื้อวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีเลข มีชื่อ ส่วนตัวมองว่าเป็นแนวคิดที่ดี จะได้จัดระเบียบแก้ปัญหาจราจรได้ โดยเฉพาะเรื่องขับรถย้อนศร เพราะไรเดอร์ต้องทำงานแข่งกับเวลาทำให้บางคนรีบ เพราะต้องการเอายอด แต่ตัวเองไม่ค่อยเจอตำรวจ จะวิ่งให้บริการในพื้นที่ของตัวเอง
การทำเบอร์บนชุดพนักงาน แบบเสื้อวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ก็ห่วงว่าจะวุ่นวายเพราะถ้าเหมือนกันก็กังวลว่าจะทะเลาะกันได้
นายไกรศล บุญส่งสี ไรเดอร์จากร้านอาหารยี่ห้อหนึ่ง บอกว่า ได้ข่าวมาแล้ว ส่วนตัวมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่กับคนขับ ไม่ได้อยู่ที่เสื้อ เสื้ออะไร ถ้าจะแหกกฎก็แหกหมด อยู่ที่จิตสำนึกของคนขับ
ย้อนศร ขับบนทางเท้า เขารีบ ผมไม่รีบ ใครรีบไปก่อน ผมว่าต่อให้มีเบอร์เสื้อก็แก้ไม่ได้ ทุกอย่าง รถใหญ่ รถเล็กขึ้นอยู่กับคนขับ จะใส่เสื้ออะไร มีค่าเท่ากัน คนถอดเสื้ออาจจะขับดีกว่าคนใส่เสื้อ
ไกรศล บอกอีกว่า ทำหน้าที่ไรเดอร์มาแล้ว 4-5 เดือนยังไม่เคยถูกตำรวจเรียก เพราะไม่ทำผิดกฎจราจร นอกจากนี้ส่วนหนึ่งเพราะอาหารของร้านที่รับส่งอาหารมีเตรียมอาหารไว้ และจำกัดระยะทางรับ-ส่งสินค้าแค่ไม่เกิน 7 กิโลเมตร แค่ 15 นาที จึงไม่ความจำเป็นต้องรีบ แต่ถ้าเป็นของไรเดอร์ยี่ห้ออื่นๆ เขาอาจมีข้อจำกัดที่ต้อง
ที่ร้านกำหนด 7-10 เที่ยวต่อวัน เช่นส่งข้าว ส่งเค้ก และกำหนด 15 นาทีต่อลูกค้าในพื้นที่จึงไม่ต้องรีบทำเวลาเหมือนกับการส่งอาหารของไรเดอร์อื่นๆ
ข้อมูลจากกรุงเทพมหานคร พบมีการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดกฎจราจรบนท้องถนน 160,000 เบาะแส จับปรับแล้ว 77,000 เบาะแส เหลือ 38,000 เบาะแส กทม.ส่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ