ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ฟังนักโบราณคดีไขคำตอบร่องรอยโรคจาก “กระดูกวาฬบรูด้า”

สังคม
12 พ.ย. 64
14:06
551
Logo Thai PBS
ฟังนักโบราณคดีไขคำตอบร่องรอยโรคจาก “กระดูกวาฬบรูด้า”
รู้จัก “นักโบราณดี” อพวช.จากงานศึกษาเบื้องหลังความตายผ่านโครงร่างมนุษย์ในอดีต สู่แรงบันดาลใจในการไขปริศนาโครงกระดูกวาฬบรูด้า "แม่จ๊ะเอ๋" ที่สมบูรณ์ที่สุดในไทย ค้นหารอยโรคจากชิ้นกระดูก ต่อยอดดูแลวาฬในทะเลไทย
นักบรรพชีวินวิทยา ที่ศึกษาเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ เช่น ไดโนเสาร์ ต่อให้อยากออกไปเห็น ไดโนเสาร์ของจริง สักแค่ไหนก็ทำไม่ได้ โชคดีของเราที่เห็นวาฬบรูด้ากับตาจริง ๆ ก่อนที่จะเป็นโครงกระดูก

นายชลวิทย์ ทองเจริญชัยกิจ นักวิชาการ 6 สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. หัวหน้าชุดในการศึกษา เรื่องราวจากโครงกระดูกวาฬบรูด้า "แม่จ๊ะเอ๋" เขาเป็นหนึ่งในนักโบราณคดี ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทีมวิจัย

โดยโครงกระดูกวาฬบรูด้า "แม่จ๊ะเอ๋" 120 ชิ้น ถูกจัดแสดงภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2564 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-19 พ.ย.2564 ที่อิมแพค เมืองทองธานี ผ่านนิทรรศการโครงร่างสร้างเรื่อง (SKeleton) ถือเป็นโครงวาฬบรูด้า ที่สมบูรณ์ที่สุดในไทย

 

นักโบราณคดี ผู้ต่อจิ๊กซอว์อดีต

ชลวิทย์ เล่าว่า หลายคนอาจเข้าใจว่า นักโบราณคดีเป็นผู้ค้นพบไดโนเสาร์แต่เป็นคนละอย่างกัน เพราะคนที่ศึกษาเรื่องของฟอสซิลก่อนหน้าจะมีบรรพบุรุษมนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาจะเรียกว่า "นักบรรพชีวินวิทยา" ซึ่งจะศึกษาเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ ลักษณะรูปร่าง ลักษณะความเป็นอยู่ และประวัติการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ผ่านข้อมูลและร่อยรอยสัตว์ต่าง ๆ บนชั้นหิน

ขณะที่ นักโบราณคดีพยายามที่จะศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมนั้น ๆ เช่น มีการขุดพบภาชนะดินเผาที่เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ของคน ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการผลิตภาชนะดินเผา เครื่องมือหิน

รวมไปถึงการศึกษาเรื่องโครงกระดูกของมนุษย์ จะเป็นลักษณะกลุ่มประชากรที่พบเห็นมีเพศชาย เพศหญิง ช่วงวัย ร่องรอยโรค มีความผิดปกติอะไรบ้าง ศึกษาในทุกแง่มุม ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมที่ไม่เป็นที่รู้จักและหายสาบสูญไปแล้ว

นักโบราณคดีจะศึกษาตั้งแต่ช่วงเวลาที่มีบรรพบุรุษมนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมา และเป็นสังคมวัฒนธรรมต่างๆ ตั้งแต่การเก็บของป่าล่าสัตว์ ไปจนถึงเกษตรกรรมล่าสัตว์ เช่น พวกแหล่งโบราณคดี บ้านเชียง และไม่เพียงศึกษาเรื่องของมนุษย์เพียงอย่างเดียว ยังศึกษาเรื่อง สัตววิทยาโบราณคดี เกี่ยวกับกระดูกสัตว์ ด้วย

ภาพ : museumthailand

ภาพ : museumthailand

ภาพ : museumthailand

 

ครั้งแรกกับความท้าทาย ไขคำตอบกระดูกแม่จ๊ะเอ๋

ชลวิทย์ เล่าความท้าทายใหม่ การศึกษาเรื่องกระดูกวาฬและโลมา ที่ในประเทศไทยยังมีน้อยคนที่ศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ถือว่าตนเองโชคดี ที่พบเห็นวาฬ โลมา หลากหลายชนิดในทะเลอ่าวไทยและอันดามัน หากเทียบกับนักบรรพชีวินวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์ เช่น ไดโนเสาร์ ต่อให้เขาอยากออกไปเห็นของจริงก็ทำไม่ได้ 

ภาพ : พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา

ภาพ : พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา

ภาพ : พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา

งานศึกษาวิจัยชิ้นนี้ ถือเป็นชิ้นแรกที่ทำร่วมกับ อพวช. ซึ่งได้มีการรับบริจาคตัวอย่าง กระดูกวาฬบรูด้า "เม่จ๊ะเอ๋" สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมมาเก็บรักษา เป็นตัวอย่างสำหรับการวิจัย ทำให้ได้มีโอกาสได้สัมผัสความพิเศษหลายอย่างของสัตว์ในกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงกระดูก รวมไปถึงความผิดปกติในโครงกระดูกนั้น ๆ 

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ คือ การได้ศึกษาเรื่องวิวัฒนาการ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัยในทะเลได้ เช่น รูปทรงที่มีลักษณะเพรียว คล้ายจรวดตอปิโด หรือลักษณะของครีบ ที่ช่วยในการว่ายน้ำ

ในอนาคตเมื่อมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวข้องกับวาฬบรูด้ามากขึ้น อาจจะทำให้การจำแนก เพศ อายุ ชนิด มีความแม่นยำมากขึ้น แต่ปัญหาที่มีขณะนี้คือตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษายังน้อยอยู่

"กระดูก" บ่งบอกรอยโรค

คนศึกษากระดูกวาฬ โลมา ในบ้านเราน้อยอยู่แล้ว แต่ว่ารอยโรคและความผิดปกติต่าง ๆ ยิ่งน้อยเข้าไปอีก

เรื่องของกระดูกอาจจะไม่มีโอกาสได้ศึกษา หรือครอบคลุมนัก เพราะว่าหลังชันสูตรเสร็จแล้วจะฝังซาก ทิ้งไว้อีก 1-2 ปี จึงจะกลับไปขุด กู้ขึ้นมาอีกครั้ง ฉะนั้นงานของเราเหมือนกับช่วยในเรื่องของการเสริมต่อจากสิ่งที่สัตวแพทย์ได้ศึกษาไว้

ชลวิทย์ เล่าว่า ได้พบกับวาฬบรูด้า "แม่จ๊ะเอ๋" ตอนเป็น "เจ้าจ๊ะเอ๋" ยังไม่รู้ว่าเป็น ตัวผู้ หรือตัวเมีย จนกระทั้งเปลี่ยนสภาพมาเป็น “แม่จ๊ะเอ๋” มีลูกมา 2 ตัว คือ เจ้าตึก เจ้าหนึ่ง

แม้แม่จ๊ะเอ๋จะจากไปแล้ว แต่โครงกระดูกของเขาก็ยังทำหน้าที่ ช่วยในเรื่องของการเรียนรู้ให้คนได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม

การเก็บ โครงกระดูก รักษาสภาพ

ชลวิทย์ บอกว่า ลักษณะเด่นของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม คือ มีไขมัน เรื่องของการสงวนรักษาสภาพของกระดูก “แม่จ๊ะเอ๋” จึงกลายเป็นเรื่องท้าทายในการเก็บรักษา 

ตัวไขมันที่จะซึมออกมาจากกระดูกวาฬ อาจทำให้เกิดเป็นคราบกับกระดูก หากไม่ทำความสะอาด อาจกลายเป็นที่เกาะของฝุ่นละออง และทำให้เกิดเชื้อราหรือปฎิกริยาที่เรียกว่า ปฏิกิริยาออกซิเดชัน ทำให้กระดูกเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ

ขณะนี้ยังไม่มีวิธีการที่ดีที่สุด จึงต้องพยายามคิดค้น หาวิธีการต่างๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ เพื่อที่จะมีตัวอย่างกระดูกวาฬบรูด้า เก็บไว้ได้นาน ๆ
ภาพ : พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา

ภาพ : พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา

ภาพ : พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา

ช่วยอนุรักษ์ ท้องทะเลไทย

นายชลวิทย์ กล่าวถึงความสมบูรณ์ของทะเลไทย ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของ "วาฬบรูด้า" เรียกได้ว่าแค่นั่งเรือออกไป แถบเพชรบูรณ์ สมุทรสาคร มีโอกาสที่ได้พบเห็นวาฬตัวใหญ่

จากสถิติของสัตว์ทะเล สาเหตุหนึ่งของการตาย จะเป็นเป็นเรื่องอุบัติเหตุจากเครื่องมือประมง เรือ จึงต้องสร้างความตระหนักเพื่อลดความสูญเสีย

ตราบใดที่ทะเลยังมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร ปราศจากขยะพลาสติก ซึ่งอาจจะมีปัญหาไม่เฉพาะวาฬกับโลมา แต่รวมไปถึงสัตว์ทะเลอื่น ๆ ด้วย เราก็ยังมีโอกาสได้พบวาฬบรูด้าเรื่อย ๆ ทุกครั้ง ที่ออกทะเลไป

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รู้จัก "แม่จ๊ะเอ๋" ผ่านโครงกระดูกวาฬบรูด้า 126 ชิ้น

ครั้งแรก! "วาฬบรูด้าแม่จ๊ะเอ๋" โชว์งานวิทยาศาสตร์ 9-19 พ.ย.

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง