ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

The EXIT : เช็กลิสต์ 2 ปีข้อร้องเรียน อบต.

การเมือง
15 พ.ย. 64
16:02
177
Logo Thai PBS
The EXIT : เช็กลิสต์ 2 ปีข้อร้องเรียน อบต.
ในรอบ 2 ปี มีข้อร้องเรียนให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณของ อบต.กว่า 1,800 เรื่อง ในจำนวนนี้มี 1,200 เรื่องที่ ป.ป.ช.รับไว้ตรวจสอบ โดยเฉพาะประเด็นการใช้งบด้านสาธารณูปโภคไม่คุ้มค่าและสูงเกินจริง

"น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี" ถูกมองเป็นภารกิจหลักขององค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. จึงไม่แปลก ที่พบว่าหลายท้องถิ่น โครงการเหล่านี้ ย้อนกลับมาเป็นประเด็นหลักที่ถูกร้องเรียนผ่าน ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณ

สถิติในรอบ 2 ปี พบว่า มีข้อร้องเรียนมากกว่า 1,800 เรื่อง   ปีที่ผ่านมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับเทศบาล ไปจนถึง อบต. ถูกร้องเรียน เฉพาะประเด็น "โครงการเสาไฟฟ้าประติมากรรม" มากถึง 31 โครงการ

 

ประเด็นนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการเผยแพร่ภาพการติดตั้ง "เสาไฟส่องสว่างประดับประติมากรรมกินรี" ภายในซอยถนนหินคลุก ระยะทางราว 1 กิโลเมตร  ไม่มีบ้านเรือนหรือผู้พักอาศัย  พบข้อมูล ตั้งแต่ปี 2562 - 2564  อบต.แห่งนี้ จัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรีไปแล้ว 6,773 ต้น งบประมาณจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดกว่า 640 ล้านบาท คิดเฉลี่ยราว 94,000 บาทต่อต้น

 

แม้โครงการนี้ถูกตั้งคำถามถึงความคุ้มค่า และ ร้องเรียนให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ แต่ อบต.เจ้าของโครงการ ยืนยันว่า เป็นโครงการที่มาจากความต้องการของประชาชน และผ่านมติสมาชิกสภา อบต.  ต่อมา พบการออกมาเปิดเผยข้อมูลและร้องขอให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณ ในโครงการเสาไฟลักษณะใกล้เคียงกันนี้ในอีกหลายท้องถิ่นทั่วประเทศ

 

ข้อมูลที่น่าสนใจ พบว่า การตั้งประเด็นตรวจสอบของ ป.ป.ช. ต่อ "โครงการเสาไฟฟ้าประติมากรรม" ที่ถูกร้องเรียนเข้ามาทั้ง 31 โครงการ ไม่ใช่แค่ประเด็นความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ แต่ยังตั้งประเด็นตรวจสอบไปที่ความไม่ปกติของราคา และคู่สัญญา รวมถึงเส้นทางที่อาจเอื้อให้เกิดผลประโยชน์

นายนิวัติไชย เกษมมงคล  เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.  บอกว่า  จากการตรวจสอบทั่วประเทศพบการจัดซื้อจัดจ้างลักษณะแบบเดียวกัน จึงต้องมาดูว่าในรายละเอียดต่างๆ เช่น ความจำเป็น และ ความเหมาะสม เป็นต้น 

 

ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างคือหนึ่งมีความจำเป็นไหม มีความเหมาะสมไหม การจัดซื้อจัดจ้างสูงไหม บริษัทที่ได้งานคือใครบริษัทแบบเดียวกันไหม เสาไฟใช้วัสดุผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันหรือเปล่า แต่บางที่ที่เราลงไปตรวจสอบมีพบการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้รับจ้าง

งบประมาณท้องถิ่น ที่ถูกใช้ไปกับ "โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวและกีฬา" แต่ถูกทิ้งร้าง เป็นอีกเรื่องร้องเรียนที่ถูกส่งเข้ามายัง ป.ป.ช. 

อาคารหาดปากเมงพลาซ่า ก่อสร้างด้วยงบประมาณของ อบต.แห่งหนึ่งใน อ.สิเกา จ.ตรัง งบประมาณกว่า 23 ล้านบาท แต่จนถึงวันนี้ตลาดยังถูกทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2561 เฉพาะป้ายโครงการที่ประดับด้วยประติมากรรมรูปหอย ใช้งบประมาณไปกว่า 700,000 บาท

 

ก่อนหน้านี้กลุ่มบริหารพยายามเข้ามาจัดการตลาดหลายครั้ง แต่ไม่สามารถเข้าไปขายสินค้าภายในตัวอาคารได้ ด้วยเหตุผลว่า ตัวอาคารถูกออกแบบมาไม่เอื้ออำนวยต่อการเป็นร้านขายสินค้า  ปัจจุบันต้องปรับเปลี่ยนเป็นการตั้งเต้นท์ขายสินค้าหน้าอาคารแทน  นายสุเมธ วัฒนกุล  ผู้ดูแลตลาด  บอกว่า  แม้มีแนวคิดจะพัฒนาเป็นแบบเปิดโล่งแต่ติดขัดเรื่องงบประมาณ

 

ช่วงที่สมาคมเข้ามาทำก็มีแนวความคิดจะให้เป็นแบบเปิดโล่งแต่ก็ติดขัดเรื่องงบประมาณด้วยค่าใช้จ่ายสูง แล้วก็เป็นตลาดแบบบ้านๆ คนในพื้นที่ขายกันเองจะให้มาลงทุนทำก็คงยาก

นายราม วสุธน  ผอ. สนง.ป.ป.ช.จ.ตรัง  มองว่า  การก่อสร้างที่ไม่คุ้มค่าที่เรียกกันว่า คิดทำทิ้ง เป็นอะไรที่น่าเสียดายเพราะยังมีหลายหน่วยงานกำลังรองบประมาณในเรื่องของการดำเนินกิจกรรมหลายอย่าง เช่น โรงเรียน หรือ สถานพยาบาลต่างๆ มีความขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์

หน่วยงานบางหน่วยงานเช่นท้องถิ่นมีงบประมาณค่อนข้างเยอะ แต่ทำแล้วเกิดความไม่คุ้มค่า ผมมองว่า มันเป็นอะไรที่คนที่จะเข้ามาเป็นนักการเมืองต้องคิดว่า การที่เราจะทำโครงการต่างๆ ต้องเกิดความคุ้มค่าต่อภาคประชาชนจริงๆ 

นายชัยวุฒิ  สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง ในฐานะอดีตสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล บอกว่า โครงการประเภทก่อสร้าง ภายใต้งบประมาณของ อบต. มักถูกใช้เป็นช่องทางหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มมาตั้งแต่ในอดีต แต่ระยะหลังที่เห็นว่า มีโครงการ สร้าง ทิ้ง ร้าง ปรากฎขึ้นในหลายพื้นที่ 

 

กรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดก็เฝ้าระวังตรวจสอบกันอยู่เพราะว่าโครงการที่ทำแล้วไม่ได้มีการทุจริตก็จริงอยู่แต่ทำแล้วทิ้งไม่ได้ใช้ประโยชน์ค่อนข้างเยอะพอประมาณเลย หรือว่าใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับภาษีของประชาชน สูญเปล่าไปก็พอประมาณทีเดียว

ข้อมูลจาก ป.ป.ช.พบว่า ตั้งแต่ปี 2563-2564 เพียง 2 ปี มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้ประมาณไม่คุ้มค่าของ อบต. ทั่วประเทศกว่า 1,800 ข้อร้องเรียน แบ่งเป็น 4 ประเภท มากที่สุด อันดับ 1 คือ ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการพัฒนาสาธารณูปโภค เช่น การก่อสร้างถนน การซ่อมแซ่มถนน ก่อสร้างระบบไฟส่องสว่างสาธารณะ และการก่อสร้างระบบประปา 1,391 ข้อร้องเรียน

อันดับ 2 คือ งบประมาณเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะ ก่อสร้างอาคารขยะมูลฝอย

อันดับที่ 3 คือ งบประมาณที่ใช้ไปกับการท่องเที่ยวและกีฬา เช่น การซ่อมแซมสนามกีฬา พัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว

และ อันดับ 4  คือ โครงการที่ใช้งบประมาณเกี่ยวกับการจัดการน้ำ เช่น โครงการขุดลอก วางท่อระบายน้ำ จัดซื้อกระสอบทราย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง