ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แนะ 6 จุดสำคัญตรวจรับบ้าน ก่อนเสียเงินล้านแล้วต้องซ่อม

สังคม
17 พ.ย. 64
15:11
4,642
Logo Thai PBS
แนะ 6 จุดสำคัญตรวจรับบ้าน ก่อนเสียเงินล้านแล้วต้องซ่อม
ไทยพีบีเอสออนไลน์ชวนอ่าน 6 จุดสำคัญตรวจรับบ้าน ตั้งแต่ท่อระบายน้ำจนถึงหลังคาก่อนเสียเงินล้าน หลังเจอ 2 เคสที่จ.สระบุรี และขอนแก่น เจ้าของบ้านสุดช้ำใจ ซื้อบ้านราคาหลายล้าน อยู่ไม่นานต้องซ่อมหนักมาก

หลังจากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Nutthaporn Pum โพสต์ปัญหาซื้อบ้านในโครงการแห่งหนึ่ง อ.หนองแค จ.สระบุรี ราคาเกือบ 3 ล้านบาท แต่หลังจากเข้าอยู่ได้แค่ 5 เดือนพบสารพัดปัญหา ต้องซ่อมไม่ต่ำกว่า 20 รายการ เพราะมีปัญหาน้ำไหลลงช้าอาบน้ำทีขึ้นมายันตาตุ่ม น้ำขัง อีกทั้งน้ำยังรั่วออกมาจากห้องอาบน้ำชั้นบนลงมาชั้นล่างหลายจุด 

(อ่านข่าวเพิ่มเติม : สุดช้ำใจ! ซื้อบ้านราคาเกือบ 3 ล้าน 5 เดือนซ่อม 20 ครั้ง)

ล่าสุดเพจ อยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทิร์น Part 1 ก็ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอความยาว 6 นาที 18 วินาที พร้อมข้อความ ระบุว่า ได้ซื้อบ้านในโครงการบ้านจัดสรรแห่งหนึ่งในหมู่บ้านสำราญ อ.เมืองขอนแก่น โดยรับโอนบ้านเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2564 และเข้าอยู่วันที่ 24 ต.ค.2564 แต่อยู่ได้เพียง 4-5 วัน กลับพบปัญหาหลายอย่าง ซึ่งโครงการก็ได้มีการบอกให้ซ่อมแซมตามปัญหาที่เกิด แต่เจ้าของบ้านมองว่า เป็นเรื่องไม่สมควรเพราะนี่คือการซื้อบ้านมือหนึ่ง ทั้งยังต้องผ่อนค่าบ้านและจ่ายค่าซ่อมด้วย

6 เทคนิคก่อนตรวจรับบ้าน

คนในแวดวงงานรับเหมาก่อสร้าง ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ก่อนจะจ่ายเงินเพื่อซื้อบ้าน แม้ว่าจะวางมัดจำไปแล้ว แต่ก็ควรจะตรวจรับบ้านให้ดี และรอบคอบก่อน ข้อแนะนำคือ หากไม่มีความเชี่ยวชาญ ก็ควรจ้างบริษัทตรวจรับงาน ซึ่งอาจมีค่าบริการหลักพัน แต่สามารถช่วยตรวจสอบทุกพื้นที่อย่างละเอียด และอาจพบจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขมากกว่า 500-1,000 จุด แต่หากตรวจสอบด้วยตัวเอง อาจพบเพียงไม่ถึง 10 จุดก็ได้

ขณะเดียวกันเมื่อตรวจพบจุดที่ต้องแก้ไข ก็ต้องแก้ไขก่อนจ่ายเงิน หากเจ้าของโครงการไม่ยอมก็แนะนำให้ยอมทิ้งค่ามัดจำดีกว่าต้องจ่ายซ้ำ ๆ เพื่อซ่อมบ้าน อย่างไรก็ตาม หากจะตรวจสอบด้วยตัวเองเบื้องต้น ก็สามารถตรวจสอบได้ ดังนี้

1.เช็กการรั่วซึมของฝ้าเพดานสามารถฉีดน้ำบนหลังคา เพื่อตรวจสอบว่ามีการรั่วซึมหรือไม่ เพราะหากน้ำรั่วซึมอาจทำให้ฝ้าเพดานบวมพองได้ 

2.เช็กการลาดเอียงของห้องน้ำ ด้วยการฉีดน้ำในมุมที่อยู่ห่างจากท่อระบายน้ำมากที่สุด หากน้ำไหลลงท่อช้า หรือมีน้ำเหลือค้างอยู่ อาจหมายถึงพื้นราบเอียงไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันอาจเป็นปัญหาเรื่องของท่อระบายน้ำด้วย อาจลองหาเหล็กยาวมาจิ้มลงไปในท่อว่ามีสิ่งอุดตันหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำขังอยู่บนพื้นห้องน้ำ

3.ลองเปิดน้ำทิ้งไว้ในห้องน้ำ แล้วอุดปากท่อระบายน้ำเพื่อขังน้ำไว้ ทดสอบการรั่วซึมจากชั้น 2 ลงไปชั้น 1 หรือไม่

4.ตรวจสอบบานหน้าต่าง ประตูด้วยกันปิด-เปิดว่าไม่ติดขัด และทดสอบฉีดน้ำใส่ประตูหรือหน้าต่างว่าวงกบมีน้ำรั่วซึมหรือไม่

5.ตรวจสอบไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัย

6.ตรวจดูบ่อเกรอะว่ามีสิ่งอุดตันหรือไม่ เพราะอาจส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาส้วมตันหรือส้วมเต็มได้

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง