ดัชนีตลาดหุ้นไทย ปิดตลาดเมื่อวานนี้ ที่ระดับ 1,610.61 จุด ร่วงลง 37.85 จุด มูลค่าการซื้อขาย 1.23 แสนล้านบาท
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงมา เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ แต่ระยะต่อไปหากไทยไม่มีความเสี่ยงเรื่องดังกล่าวเข้ามากระทบ เชื่อว่า ความกังวลในตลาดหุ้นจะเป็นช่วงสั้น ๆ เท่านั้น
นายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาด บล.ธนชาต ระบุว่า ยังเร็วไปที่จะประเมินผล แต่ตอนนี้หลายฝ่ายมีความกังวล ซึ่งกลุ่มหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเมือง การเดินทาง และการท่องเที่ยว ลดลงรุนแรงเมื่อวานนี้ สวนทางกับหุ้นที่ปลอดโควิด-19 เช่น โรงพยาบาล ถุงมือยาง และเทคโนโลยีที่ปรับตัวดีขึ้น อกจากนี้ ยังมีความเป็นห่วงว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจล่าช้าออกไป
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย ระบุว่า นักท่องเที่ยวจากแอฟริกาไม่ใช่ตลาดหลักของไทย แต่กรณีพบการแพร่เชื้อในยุโรป ยอมรับว่า มีความกังวล เพราะนักท่องเที่ยวยุโรปเป็นหนึ่งในตลาดหลักที่เข้ามาไทยในขณะนี้ ซึ่งหากภาครัฐยกระดับมาตรการการเดินทางเข้ามาเข้มข้นขึ้น อาจทำให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทางมาไทยได้ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นมองว่า ผลกระทบอาจยังไม่มากนัก และไม่ต้องการให้มีการล็อกดาวน์อีก
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า แม้ขณะนี้ไทยยังไม่เกิดการระบาดระลอก 5 แต่เอสเอ็มอีก็ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ส่งผลให้เอสเอ็มอีอาจปิดกิจการไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และมีคนตกงานเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1-2 ล้านคน คิดเป็นความสูญเสียในระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท
ดังนั้น จึงขอให้รัฐบาลวางมาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกา รวมทั้ง เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ประสิทธิภาพวัคซีนต่อการป้องกันายพันธุ์ใหม่ และ ชุดตรวจ ATK ในท้องตลาด สามารถตรวจหาเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวได้หรือไม่ รวมทั้ง ลดหย่อนภาษีต้นทุนค่าชุดตรวจ ATK ให้สถานประกอบการ เพื่อควบคุมการเกิดคลัสเตอร์ และบรรเทาภาระผู้ประกอบการที่กำลังฟื้นตัว
ก่อนหน้านี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในการประชุมหอการค้าทั่วประเทศว่า รัฐบาลได้ทำสัญญารอส่งมอบวัคซีน สำหรับฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือ บูสเตอร์ โดส จำนวน 66-90 ล้านโดส จากเป้าหมาย 120 ล้านโดส คาดว่า จะสามารถทำสัญญาส่งมอบวัคซีนตามเป้าหมายภายในสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันให้คนไทยและเดินหน้าเปิดประเทศได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ รัฐบาล ยังเตรียมแผนจัดซื้อยารักษาโรคจากโควิด-19 ตั้งแต่เริ่มมีอาการระยะแรก ระยะปานกลาง และอาการรุนแรง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอบวิกฤตขาดแคลนเตียงในสถานพยาบาลอีก จึงขอให้เอกชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลได้เตรียมความพร้อมรับการระบาดระลอกใหม่ โดยไม่กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ