วันนี้ (28 พ.ย.2564) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า อังกฤษยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 หลังพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ "โอมิครอน" 2 คนแรกของประเทศ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการเดินทางไปแอฟริกาใต้
บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศว่า ประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัยภายในร้านค้าและบริการขนส่งสาธารณะ เพื่อรับมือกับโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน นอกจากนี้ยังเตรียมหารือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการปูพรมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และลดระยะห่างระหว่างการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 กับเข็มกระตุ้นให้สั้นลงด้วย
ขณะที่ผู้เดินทางเข้าประเทศทุกคนจะต้องตรวจหาเชื้อแบบ PCR ภายใน 2 วันหลังจากเดินทางมาถึง และจะต้องกักตัวจนกว่าได้รับผลการตรวจว่าปลอดเชื้อ ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ต้องสงสัยติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ต้องกักตัวสังเกตอาการเป็นเวลา 10 วัน แม้ว่าจะได้วัคซีนครบตามกำหนดแล้วก็ตาม
ด้านซาจิด จาวิด รัฐมนตรีสาธารณสุขอังกฤษ เปิดเผยว่า อังกฤษเตรียมระงับเที่ยวบินที่ออกเดินทางมาจากแองโกลา โมซัมบิก มาลาวี และแซมเบีย ซึ่งทั้ง 4 ประเทศจะถูกบรรจุอยู่ในกลุ่มประเทศบัญชีแดงที่ถูกจำกัดการเดินทาง ร่วมกับแอฟริกาใต้ นามิเบีย เลโซโท เอสวาตินี ซิมบับเว และบอตสวานา
นอกจากนี้ยังขอให้ผู้มีประวัติเดินทางกลับมาจากแองโกลา โมซัมบิก มาลาวี และแซมเบีย ในช่วง 10วันที่ผ่านมากักตัวสังเกตอาการและตรวจหาเชื้อ
"เยอรมนี-อิตาลี" พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน
ขณะที่รัฐบาวาเรียในเยอรมนี ยืนยันว่า ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน 2 คน เป็นผู้เดินทางมายังสนามบินนครมิวนิก เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา
ส่วนรัฐเฮสเซ่น ทางภาคตะวันตกของประเทศ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้โดยสารที่เดินทางจากแอฟริกาใต้ มายังสนามบินในนครแฟรงก์เฟิร์ต ซึ่งการเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจสอบ เบื้องต้นพบการกลายพันธุ์คล้ายเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนหลายจุด จึงมีโอกาสมากที่เชื้อนี้จะเป็นสายพันธุ์ดังกล่าว
ด้านสถาบันสุขภาพแห่งชาติอิตาลี ออกแถลงการณ์ว่า พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนคนแรกของประเทศ เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากโมซัมบิก
ทั้งนี้ ปัจจุบันนอกจากอังกฤษ เยอรมนี และอิตาลีแล้ว ยังพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในแอฟริกาใต้ บอตสวานา อิสราเอล เบลเยียม รวมทั้งฮ่องกงด้วย
ที่มา : BBC, Reuters, AP
อ่านข่าวอื่นๆ
อนามัยโลกตั้งชื่อ "Omicron" โควิดพันธุ์ใหม่น่ากังวลในแอฟริกา
ทั่วโลกระงับเที่ยวบินจากแอฟริกา หวั่นสายพันธุ์ "โอมิครอน"
โมเดอร์นาเตรียมพัฒนาวัคซีนเข็มกระตุ้นสู้ "โอมิครอน"