วันนี้ (29 พ.ย.2564) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข้อมูล COVID-19 โอมิครอน โดยระบุว่า ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้กำหนดให้ห้องปฏิบัติการทุกแห่งมีการดำเนินการตรวจหาเชื้อ COVID-19 แบบ RT-PCR ต้องตรวจยีนมากกว่า 1 ยีน หรือตรวจยีนมากกว่า 1 ตำแหน่ง เพื่อยืนยันผลลบหรือบวก
อย่างไรก็ตาม วิธีตรวจนี้กลายเป็นอานิสงส์ ที่ทำให้การตรวจ COVID-19 โอมิครอน แม้จะตรวจบางยีนไม่พบ แต่บางยีนอาจจะโผล่ขึ้นมา ดังนั้น การตรวจมากกว่า 1 ยีน โอกาสที่จะหลุดรอดไปก็ต่ำมาก จึงขอให้ความมั่นใจและขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก ยืนยันวิธีตรวจ RT-PCR ยังสามารถวินิจฉัยโอมิครอนได้
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ไทยยังได้ตรวจสอบน้ำยาตรวจสารพันธุกรรมที่ผ่านประเมิน อย.ทั้งสิ้น 104 ยี่ห้อ ในจำนวนนี้พบ 2 ยี่ห้อที่ตรวจเฉพาะยีนเป้าหมาย N และ S หมายความว่า หากมีการกลายพันธุ์แล้วพันธุกรรมบางตำแหน่งหายไปจาก N และ S จะทำให้น้ำยาไม่สามารถตรวจพบ
ขณะที่อีก 15 ยี่ห้อ สามารถตรวจยีนเป้าหมาย S ร่วมกับยีนอื่นที่ไม่เป็นผลกับการกลายพันธุ์ได้ และอีก 87 ยี่ห้อ ตรวจยีนเป้าหมาย N ร่วมกับยีนอื่นที่ไม่เป็นผลกับการกลายพันธุ์ได้เช่นกัน ดังนั้น โอกาสหลุดรอดไปแทบจะไม่มี มีเพียง 2 ใน 104 ยี่ห้อที่จะตรวจไม่พบ ซึ่งจะมีการประสานงานกับผู้ขายอีกครั้งว่ามีโอกาสจะพลาดมากน้อยเพียงใด แต่สรุปว่า RT-PCR ยังหาโอมิครอนพบ
ส่วนชุดตรวจ ATK จากข้อมูลของ Antibody ในชุดตรวจ ATK ที่จับกับโปรตีน N ของเชื้อก่อโรค COVID-19 ทั้งอ้างอิงผลการศึกษาของ Liang,T., et al : ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนที่สร้างโดยไวรัสที่กลายพันธุ์ ดังนั้น การกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้น จึงยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าส่งผลกระทบต่อการตรวจด้วย ATK
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"อังกฤษ-เยอรมนี-อิตาลี" พบคนติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน
โมเดอร์นาเตรียมพัฒนาวัคซีนเข็มกระตุ้น สู้ "โอมิครอน"
เปิดภาพไวรัสโควิด "โอมิครอน" โปรตีนหนามมากกว่าเดลตา
เช็กพิกัด! โควิดโอมิครอนลาม 18 พื้นที่ 4 ทวีป สธ.ยืนยันยังไม่พบในไทย