ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Open Meals เตรียมส่งซูชิไปอวกาศด้วย 3D Printer คาดสำเร็จปี 2025

Logo Thai PBS
Open Meals เตรียมส่งซูชิไปอวกาศด้วย 3D Printer คาดสำเร็จปี 2025
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
Open Meals สตาร์ตอัปญี่ปุ่น เตรียมส่งซูชิไปอวกาศด้วย 3D Printer คาดสำเร็จและสามารถสาธิตการใช้งานได้ภายในปี 2025

อาหารดี ๆ รสชาติอร่อยมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก แต่ระยะทางที่ห่างไกลทำให้ไม่สามารถไปลิ้มรสชาติอาหารเหล่านั้นได้ บริษัท สตาร์ตอัปในญี่ปุ่นได้นำเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ มาใช้ในการผลิตอาหาร เพื่อให้นักบินอวกาศได้ทานอาหารรสชาติเดียวกับคนบนโลก โดยคาดว่าจะพร้อมให้บริการได้ภายในปี 2025

Open Meals เป็นโครงการสตาร์ตอัปที่ได้รับการสนับสนุนจาก Dentsu บริษัทโฆษณาในประเทศญี่ปุ่น โดยโครงการนี้ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 มีเรียวสุเกะ ซาคากิ เป็นผู้ริเริ่มโครงการ และเป้าหมายของโครงการนี้คือการให้นักบินอวกาศได้ทานซูชิที่มีรสชาติเหมือนปรุงโดยเชฟจากร้านอาหารชื่อดัง

การผลิตเครื่องพิมพ์อาหารแบบ 3 มิติ มีแนวคิดเบื้องต้นที่มาจากหลักการทำงานของเครื่องพิมพ์แบบอิงค์เจ็ทที่ใช้สีเพียง 4 สีในการพิมพ์เอกสาร นำมาประยุกต์ให้เป็นเครื่องพิมพ์ที่มีรสชาติพื้นฐาน 4 รสชาติ คือ เปรี้ยว หวาน ขม และเค็ม แล้วนำมาพิมพ์บนกระดาษที่ทำจากข้าวโพด รสชาติที่ได้จะถูกปรับเปลี่ยนไปตามอัตราส่วนของเครื่องปรุงที่บ่งบอกรสชาติของอาหารแต่ละประเภท

แนวคิดดังกล่าวได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นเทคโนโลยีการผลิตอาหารด้วยการส่งผ่านข้อมูล (Food Data Transmission) ไปยังอีกที่หนึ่งด้วยการใช้เซนเซอร์รับรสและสแกนเนอร์ 3 มิติ เก็บข้อมูลรูป รส สัมผัสของอาหารประเภทนั้น ๆ แล้วผลิตอาหารออกมาโดยใช้ Pixel Food Printer หรือเครื่องพิมพ์อาหารแบบ 3 มิติ ซึ่งอาหารจะอยู่ในรูปแบบของเจลกินได้ ขนาดไม่เกิน 5 มม. นำมาเรียงต่อกันด้วยแขนกลหุ่นยนต์ให้มีรูปร่างคล้ายอาหารที่คุ้นเคย

โดยซูชิเป็นอาหารอย่างแรกที่ผู้ผลิตได้พัฒนา ภายใต้โครงการ Sushi Teleportation ที่สามารถส่งผ่านซูชิไปได้ทุกที่ แม้กระทั่งในอวกาศ นอกจากนี้ ทีมผู้พัฒนายังได้ทดลองผลิตโอเด้งด้วยเช่นกัน อุปกรณ์การผลิตอาหารยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้เวลาน้อยลง คาดว่าจะสามารถนำมาสาธิตการทำงานได้ในงาน Expo 2025 ที่จะถูกจัดขึ้นที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น

ความสำเร็จในการผลิตอาหารด้วยการพิมพ์ 3 มิติ เป็นการทำให้เกิดรูปแบบการผลิตอาหารแบบใหม่ ช่วยลดต้นทุนของวัตถุดิบและการขนส่งได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันผู้บริโภคนั้นได้รับประโยชน์มากขึ้น

ที่มาข้อมูลและภาพ: OPENMEALS, NikkeiFood Matters Live
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง