ควอนตัมคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีที่กำลังถูกพัฒนาขึ้นเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดการประมวลผลของคอมพิวเตอร์รูปแบบเดิม ล่าสุด IBM ผู้นำด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ Eagle สามารถประมวลผลความเร็ว 127 Qubit มีขนาดและประสิทธิภาพเป็น 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับควอนตัมคอมพิวเตอร์ Bristlecone ที่พัฒนาโดย Google และควอนตัมคอมพิวเตอร์ Jiuzhang 2.0 มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีนที่ประมวลผลได้เพียง 60 คิวบิต Qubit
หลังจากพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ Eagle สำเร็จทาง IBM ตั้งเป้าการพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ Osprey ประมวลผลความเร็ว 433 Qubit ให้สำเร็จภายในปี 2022 และเปิดใช้งานควอนตัมคอมพิวเตอร์เชิงพาณิชย์ในปี 2023 ความเร็วในการประมวลผลความเร็ว 1,121 Qubit ซึ่งทำให้บริษัทกลายเป็นบริษัทแรกของโลกที่พัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์และเปิดใช้งานเชิงพาณิชย์เป็นบริษัทแรกของโลก
ความแตกต่างระหว่างควอนตัมคอมพิวเตอร์และคอมพิวเตอร์รูปแบบเดิม คือ คอมพิวเตอร์รูปแบบเดิมใช้การประมวลผลระบบเลขฐานสอง (Binary Digits หรือ Bits) ค่าตัวเลข 0 และ 1 โดยตัวเลขทั้งสองจะต้องมีค่าที่แตกต่างกัน ในขณะที่ควอนตัมคอมพิวเตอร์การประมวลผลค่าตัวเลข 0 และ 1 ได้พร้อมกันหรือค่าตัวเลข 0 หรือ 1 ก็ได้ในเวลาเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีการส่งข้อมูลระหว่างกันทำให้ในทางทฤษฎีควอนตัมคอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลได้เร็วมากกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องบนโลก
หากควอนตัมคอมพิวเตอร์ถูกนำมาใช้งานอาจสามารถเปลี่ยนการประมวลผลที่ต้องใช้เวลาหลายหมื่นปีโดยคอมพิวเตอร์แบบเดิมให้ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที ซึ่งจะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่รูปแบบเทคโนโลยีและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในเกือบทุกด้าน อย่างไรก็ตามควอนตัมคอมพิวเตอร์ปัจจุบันยังคงอยู่ในขั้นตอนวิจัยพัฒนาเพิ่มเติมและใช้เวลาอีกหลายปี การพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ยังคงอยู่ในห้องทดลองควบคุมอุณหภูมิติดลบสูงในระหว่างการประมวลผลใช้พลังงานไฟฟ้าและโครงสร้างขนาดใหญ่ในการทำงาน
ที่มาข้อมูลและภาพ: NewScientist, New Atlas, FORTUNE
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech