องค์การนาซา (NASA) องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ประกาศเลื่อนการส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ขึ้นสู่อวกาศออกไปเล็กน้อยจากกำหนดการเดิมวันที่ 18 ธันวาคม เป็นวันที่ 22 ธันวาคม 2564 เนื่องจากปัญหาทางด้านเทคนิคที่เกิดขึ้น ขณะเตรียมนำกล้องโทรทรรศน์เชื่อมต่อเข้ากับฐานที่ใช้เชื่อมต่อกับจรวดขนส่งอวกาศ ทีมงานต้องใช้เวลาในการตรวจสอบความเสียหายเพิ่มเติมก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ หนึ่งในโครงการอวกาศที่มีความท้าทายมากที่สุดในศตวรรษนี้ หากเกิดข้อผิดพลาดใด ๆ ขณะกล้องอยู่บนอวกาศจะไม่สามารถแก้ไขได้โดยนักบินอวกาศ เนื่องจากยังไม่มีเทคโนโลยียานอวกาศพร้อมมนุษย์ที่สามารถเดินทางออกไปถึงตำแหน่ง L2 ตำแหน่งที่ตั้งของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ หากกล้องมีข้อผิดพลาดจำเป็นต้องใช้แผนสำรองรูปแบบอื่น หรืออาจไม่สามารถแก้ไขได้แบบถาวร กล้องโทรทรรศน์อวกาศมีระบบการทำงานที่ซับซ้อน และต้องการความแม่นยำสูง ในอดีตกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลของนาซาเคยประสบปัญหาขณะโคจรรอบโลก แต่นาซาได้ส่งนักบินอวกาศขึ้นไปทำการซ่อมแซมได้สำเร็จเนื่องจากกล้องโคจรอยู่ใกล้โลก แต่ในกรณีของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ที่ถูกส่งไปยังตำแหน่ง L2 การซ่อมแซมโดยมนุษย์อวกาศอาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก
เทคโนโลยีอวกาศ
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ เป็นความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศระหว่างองค์การนาซา (NASA) องค์การอวกาศยุโรป (ESA) และองค์การอวกาศแคนาดา (CSA) กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ จัดอยู่ในประเภทของกล้องโทรทรรศน์แบบ Three Mirror Anastigmat ใช้ความยาวคลื่นอินฟราเรด ตัวกล้องมีน้ำหนักประมาณ 6.2 ตัน ใช้กระจกเงาขนาด 6.5 เมตร มีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 ปี
หลังจากถูกส่งขึ้นสู่อวกาศกล้องโทรทรรศน์จะเดินทางไปยังตำแหน่งที่เรียกว่า จุดลากรานจ์ (Lagrangian point) หรือ L2 เป็นจุดที่อยู่นอกวงโคจรดวงจันทร์ ระยะห่างจากโลก 1.5 ล้านกิโลเมตร และห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 151.5 ล้านกิโลเมตร กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ มีระยะเวลาปฏิบัติงานประมาณ 10 ปี เพื่อทำภารกิจมองหาจุดกำเนิดและการรวมตัวของกาแล็กซี การกำเนิดดาวฤกษ์ ระบบดาวเคราะห์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจไขความลับต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิต
ที่มาข้อมูลและภาพ: esa.int
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech