ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สินค้ากล่องสุ่ม" ได้ไม่คุ้มเสีย กฎหมายคุ้มครองหรือไม่ ?

สังคม
2 ธ.ค. 64
12:58
6,290
Logo Thai PBS
"สินค้ากล่องสุ่ม" ได้ไม่คุ้มเสีย กฎหมายคุ้มครองหรือไม่ ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ลูกค้าที่สั่งซื้อ "สินค้ากล่องสุ่ม" แต่ได้ไม่คุ้มกับราคาที่เสียไปสามารถต่อสู้ด้วยข้อกฎหมายเพื่อเอาผิดร้านค้าได้ หากพบพฤติกรรมเข้าข่ายฉ้อโกง โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

กล่องสุ่มกำลังเป็นกระแสและเป็นกลยุทธ์สำหรับร้านค้าในการขายของโดยเฉพาะช่วง COVID-19 แต่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าจ่ายเงินไปแต่ไม่รู้ว่าในกล่องมีอะไรบ้าง ซึ่งทั้งยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ก็มีการรีวิวกล่องสุ่มทำเป็นคอนเทนต์จากสินค้าหลากหลายประเภท ทั้งเสื้อผ้า เครื่องเขียน ของเล่น เครื่องกีฬา ไปจนถึงอาหาร ยิ่งทำให้ความคาดหวังว่าจ่ายแล้วจะได้คุ้มกว่าเสียเพิ่มขึ้นในใจผู้บริโภค แต่หากจ่ายแล้วได้สินค้าไม่ตรงปก หรือรู้สึกว่าเข้าใจถูกฉ้อโกงกฎหมายจะคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่

พ.ต.ท.ปริญญา ปาละ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การเล่นกล่องสุ่มมีมานานแล้ว อย่างต่างประเทศในบางประเทศถือเป็นการเล่นเกมออนไลน์ สามารถเล่นได้แต่ต้องมีการกำกับดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ประเทศไทยการเล่นกล่องสุ่มยังไม่ได้รับการตรวจสอบหรือเข้าไปดูแลมากนัก ต้องพิจารณาก่อนว่าเป็นการพนันหรือไม่ โดยแยกออกเป็น 2 อย่าง คือ หากผู้ประกอบการกล่องสุ่มไปขออนุญาตกับกระทรวงมหาดไทย แล้วมีการเล่น ก็สามารถเล่นได้ ผู้เล่นก็จะถือว่าเป็นผู้บริโภค แต่ต่อมาหากพบว่าสินค้าที่ได้ไม่คุ้มหรือไม่ตรงปก ก็จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย แต่หากขายกล่องสุ่มโดยไม่ขออนุญาต จะนับว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจเข้าข่ายการพนันที่ผิดกฎหมาย ผู้บริโภคก็จะไม่ได้รับการคุ้มครอง

สินค้าไม่เหมือนกับที่รีวิวหรือโฆษณา ได้สินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่าราคาที่จ่ายไปอาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกงประชาชนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากมีการก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด ความคุ้มค่า การโฆษณา ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง และอาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย

เตือนร้านฉ้อโกงกล่องสุ่มโทษคุก 5 ปี ปรับ 1 แสน

ทั้งนี้ หากลูกค้าถ้ารู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เมื่อสั่งกล่องสุ่มมาสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในพื้นที่ได้ หรือใช้สิทธิฟ้องคดีคุ้มครองผู้บริโภคต่อศาลด้วยตัวเอง และสามารถร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ โดยพยานหลักฐานเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกค้าต้องเก็บไว้เพื่อต่อสู้คดี ประกอบด้วยคลิปการรีวิว การโฆษณา สลิปการโอนเงิน เพื่อสืบถึงผู้รับเงิน ข้อความสนทนาทางออนไลน์เกี่ยวกับตัวสินค้าหรือตัวเงินซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในการต่อสู้คดีหรือร้องเรียน

ในกรณีกล่องสุ่มหากมีการหลอกลวงโดยเจตนามา กระทำความผิดบ่อยครั้ง หรือสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง เข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และเข้าข่าย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท แต่หากเป็นการพนันจะเป็น พ.ร.บ.การพนัน 2478 อาจจะถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญาและการฟอกเงินด้วย

สคบ.พบร้านค้ากล่องสุ่มฉ้อโกงลูกค้า

ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก็เคยออกมาเตือนอย่าหลงเชื่อโฆษณากล่องสุ่มปริศนา ที่มีการวางขายเพื่อเสี่ยงโชคบนเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งเน็ตไอดอล ยูทูบเบอร์ ในการโฆษณาชักชวนให้ผู้บริโภคหลงเชื่อว่า เมื่อจ่ายเงินลงทะเบียนเพื่อเลือกซื้อกล่องสุ่มปริศนาในแพ็กเกจต่าง ๆ แล้วจะได้รับสินค้าที่มีมูลค่าสูงกว่าเงินที่จ่ายไป

ทั้งนี้ สคบ.จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อการโฆษณากล่องสุ่มปริศนาทางออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ เนื่องจากผู้บริโภคอาจไม่ได้รับสินค้า หรืออาจได้รับสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่าเงินที่จ่ายไปได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจมีความผิดฐานฉ้อโกง

ทั้งนี้ ได้ปรากฏลักษณะคดีตามหมายจับของศาลอาญาที่ 647/2563 ลงวันที่ 8 พ.ค.63 ข้อหาฉ้อโกงประชาชน ราวมกันโดยทุจริตหรือโดยโดนหลอกลวงและนำเขาสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซื้อ "กล่องสุ่ม" อย่างไร ไม่ให้เสี่ยงถูกโกง ?

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง