วันนี้ (2 ธ.ค.2564) เครือข่าย #NoCPTPP ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยต้องการเห็นการตัดสินใจของรัฐบาลที่เห็นผลประโยชน์ของประชาชน มากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มบรรษัทอุตสาหกรรมเพียงหยิบมือ ซึ่งจะทำลายความมั่นคงทางอาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ตลอดจนการเข้าถึงยา การสาธารณสุขและระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ อันเป็นผลจากการครอบงำของบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยและบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก ดังข้อกังวลดังต่อไปนี้
ประการแรก – การเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP คือการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นรวมถึง
(1) ต้องแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 โดยตัดหลักการขออนุญาตเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ เปิดทางให้โจรสลัดชีวภาพเข้ามาใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชของท้องถิ่น
(2) ตัดสิทธิพื้นฐานของเกษตรกรในการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อในฤดูกาลถัดไป เพียงแค่เก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อไปปลูกต่อก็อาจมีโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท
(3) ขยายอำนาจการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ให้รวมไปถึงผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปซึ่งผลกระทบนี้จะรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ยาที่แปรรูปจากพืชสมุนไพรด้วย
(4) สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณธัญญาหารเพราะอาหารที่ผลิตได้มาจากการเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวและการผูกขาดของบริษัท นำไปสู่ความล่มสลายของวิถีการปรับปรุงพันธุ์และอาชีพนักปรับปรุงพันธุ์พืชรายย่อย รวมถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการเกษตรเดิมของไทยที่ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ
(5) เมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยที่เราปลูกอยู่อาจมีราคาสูงขึ้น 2-6 เท่า ซึ่งจะส่งผลให้อาหารแพงขึ้นเนื่องจากต้นทุนในการปลูกสูงขึ้น จากรายงานการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี 2556 พบว่า ในระยะยาวหากเกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์พืชใหม่จากบริษัทเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด ราคาเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรจะต้องซื้อสูงขึ้นประมาณ 2-6 เท่าหรือคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 28,538 ล้านบาท เป็น 80,721 – 142,932 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 52,183 – 114,394 ล้านบาท/ปี
ประการที่สอง – CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องยอมรับการนำเข้าสินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ หรือ remanufactured goods โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ และขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิคส์ โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการพิกัดศุลกากรที่แยกประเภทสินค้าเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำชัดเจน ไม่มีหน่วยราชการหรือหน่วยตรวจสอบที่มีขีดความสามารถในการตรวจสอบรับรอง
ขณะเดียวกันยังขาดรายละเอียดในเชิงข้อกำหนดของการจัดการของเสีย/ของหมดอายุเมื่อสินค้าเหล่านี้หมดอายุไป ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นช่องทางให้เป็นการนำเข้าขยะทางการแพทย์ ขยะพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากขยะอิเล็กทรอนิกและขยะสารพิษ ที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก นี่คือการสวนทางกับเป้าประสงค์ที่ 12.4 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 12 ที่ต้องการให้มีการกำจัดขยะอันตราย ขยะติดเชื้อและกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้อง
ประการที่สาม – CPTPP ยังมีบทว่าด้วยการลงทุน ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชนฟ้องร้องรัฐบาล ถ้ารัฐบาลออกหรือบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน โดยฟ้องร้องกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS) ที่มีคณะอนุญาโตตุลาการนอกประเทศทำหน้าที่ตัดสิน ทั้งนี้ นิยามการคุ้มครองการลงทุนใน CPTPP กินความกว้างขวาง ซึ่งรวมถึง portfolio ของนักลงทุนต่างชาติที่จะเป็นเพียง pre-establishment ทั้งที่ยังหรือไม่ได้มาลงทุนจริง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีการคุ้มครองการลงทุนเช่นนี้มาก่อน
การคุ้มครองการลงทุนและการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนใน CPTPP จะส่งผลให้รัฐบาลต้องระงับการออกหรือบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน และชดเชยค่าเสียหายจำนวนมหาศาลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน โดยใช้เงินภาษีของประชาชนจ่าย ยิ่งไปกว่านั้น ยังจะก่อให้เกิดสภาวะหวาดกลัวหรือ Chilling effect ทำให้รัฐบาลไม่กล้าที่จะออกหรือบังคับใช้กฎหมายใด ๆ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การเข้าถึงยา และการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะกลัวจะถูกฟ้องโดยนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน
รวมทั้งอาจทำให้ไม่สามารถปรับปรุงกฎหมายและนโยบายที่ส่งผลอย่างไม่เป็นธรรมต่อคนในประเทศได้ และอาจขัดต่อมาตรการควบคุมยาสูบตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ซึ่งนี่สวนทางกับเป้าประสงค์ที่ 10.3 ที่มุ่งลดผลกระทบที่ไม่เป็นธรรมจากนโยบายและกฎหมาย ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน-SDG 10 ที่ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ
ประการสุดท้าย -ข้อบทใน CPTPP ที่เกี่ยวข้องกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากจะทำให้ยารักษาโรคแพงขึ้นอย่างมหาศาล จากงานวิจัยการประเมินผลกระทบของ CPTPP ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นเกือบ 400,000 ล้านบาท เพราะประเทศต้องพึ่งพายานำเข้าและมีสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นจาก 71% ในปัจจุบัน เป็น 89% และอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศจะมีส่วนแบ่งตลาดลดลงมากกว่า 100,000 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศที่สูงขึ้นย่อมส่งผลต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งสามระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เฉพาะระบบบัตรทองเพียงระบบเดียว งบประมาณค่าใช้จ่ายด้านยาคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 50% ของงบประมาณระบบบัตรทองทั้งหมด สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบต่องบประมาณค่ายาเท่านั้น CPTPP ยังจะก่อให้เกิดปัญหาที่รัฐบาลจะไม่สามารถกำหนดและบังคับใช้กฎหมายเพื่อส่งเสริมการเข้ายา เช่น มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ และมาตรการป้องปรามการบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างเหล้าและบุหรี่ด้วย รวมไปถึงการจำกัดสิทธิของผู้บริโภคในเรื่องความปลอดภัยของสินค้า เช่น เครื่องสำอาง สินค้าที่ซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ สินค้าที่มีส่วนผสมหรือปนเปื้อนสิ่งที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมหรือ GMO ฯลฯ
ในเรื่องการเข้ายา ข้อบทใน CPTPP ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุข และสวนทางกับบริบทของโลกในปัจจุบัน ที่กำลังเผชิญกับวิกฤตการระบาดของโควิด 19 ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าไม่ถึงยาและวัคซีน เพราะการผูกขาดด้วยระบบทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลกระทบต่อเป้าประสงค์ที่ 1.4 ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน-SDG 1 ที่มุ่งเพิ่มการเข้าถึงบริการพื้นฐานของคนยากจน เป้าประสงค์ที่ 3.b ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน-SDG 3 ที่มุ่งเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงวัคซีนและยารักษาโรคอีกด้วย
ข้อเสียในแต่ละประการนั้น ไม่ใช่ความสุขของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทย เครือข่าย #NoCPTPP เห็นว่า นายกรัฐมนตรืและคณะ ควรมุ่งมั่นดูแลตวามเป็นอยู่ของประชาชนบนพื้นฐานของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) โดยที่ไม่นำพาประเทศสู่การครอบงำทางเศรษฐกิจโดยบรรษัทอาหารยักษ์ใหญ่และทอดทิ้งเกษตรกร ผู้ผลิตรายย่อย และประชาชนไว้เบื้องหลัง ดังที่ได้ประกาศต่อประชาชนไทยและประชาคมโลกไว้
เครือข่าย #NoCPTPP ในฐานะตัวแทนกว่า 400,000 เสียงจากประชาชน ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียุติการพิจารณานำ CPTPP เข้ามติคณะรัฐมนตรี และยุติการเข้าร่วมความตกลง CPTPP อย่างถาวรในทันทีเพื่อเป็นของขวัญส่งท้ายปีให้กับประชาชน
เครือข่าย #NoCPTPP
FTA Watch
มูลนิธิชีววิถี
กรีนพีซ ประเทศไทย
มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 4 ภาค
มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
กลุ่มศึกษาปัญหายา
ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา
มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา
มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
มูลนิธิบูรณะนิเวศ
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
มูลนิธิสุขภาพไทย
เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา
เครือข่ายงดเหล้า
TUNONICOTINE
โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
-กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
-เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่
-กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ (คัดค้านเหมืองโปแตชและโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.ชัยภูมิ)
-กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน (คัดค้านเหมืองทองคำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย)
-กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส (คัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตช อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร)
-กลุ่มรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองหินทราย ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร)
-กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได (คัดค้านการทำเหมืองหิน ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู)
-กลุ่มรักษ์บ้านแหง (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ ต.บ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง)
-กลุ่มรักษ์ลำคอหงษ์ (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองโปแตช อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา)
-กลุ่มคนเหล่าไฮงามไม่เอาเหมืองแร่ (คัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองทรายแก้ว ต.เหล่าไฮงาม อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์)
-สมาคมพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา (คัดค้านการทำเหมืองหินปูน ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา)
-สมัชชาคนจน
-เครือข่าย People Go Network
-คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)
-มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
-เครือข่ายบริการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม We Fair
-เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (WWN)