วันนี้ (3 ธ.ค.2564) นายซูการ์โน มะทา ประธานคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ และนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล เลขานุการคณะ กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน รับหนังสือร้องเรียนจาก น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ ตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จ.สงขลา
เรื่องขอให้ตรวจสอบกระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหากรณีนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ตามที่บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ประกาศจะดำเนินการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือที่เรียกว่าการศึกษาตามกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ในโครงการย่อยจำนวน 4 ฉบับ ระหว่างวันที่ 13 - 23 ธ.ค.2564
ขณะเดียวกัน ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มอบหมายให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ดำเนินการเปลี่ยนสีผังเมืองจะนะ เพื่อรองรับโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา
ทั้งนี้ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น มีความเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวยังไม่เหมาะสม และไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่รัฐบาลเคยทำไว้กับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เพื่อเป็นทางออกกรณีปัญหาในโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา โดยมีสาระสำคัญ 3 ประการ ดังนี้
1. รัฐบาลจะตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต)
2. รัฐบาลจะจัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) แบบมีส่วนร่วม โดยจะต้องออกแบบคณะศึกษาให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
3. ระหว่างนี้ให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างในโครงการนี้เอาไว้ก่อนจนกล่าวกระบวนการในข้อ 1 และ ข้อ 2 จะแล้วเสร็จ
โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ดำเนินการตามรายละเอียดตามที่ได้ตกลงกันไว้
ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ มีความเห็นว่ากระบวนการตรวจสอบตามนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งไปนั้น ยังไม่เสร็จสิ้นตามกระบวนการ และไม่ได้เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามที่ได้กำหนดไว้เป็นสำคัญ จึงได้เสนอให้ตรวจสอบกระบวนการดำเนินงานของรัฐบาลในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา หลังจากมีการทำบันทึกข้อตกลงกับเครือข่ายฯ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2563 โดยขอให้ดำเนินการดังนี้
1. ขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ชุดที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเมื่อวันที่ 27 ม.ค.2564 เนื่องจากกลไกดังกล่าวไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชนตามที่ได้ตกลงกันไว้ และยังไม่ทราบผลการดำเนินการว่ามีข้อสรุปเป็นอย่างไร
2. ขอให้ตรวจสอบกระบวนการเปลี่ยนสีผังเมือง การจัดทำ EIA 4 ฉบับ ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) และการศึกษา SEA ที่ ศอ.บต.อ้างว่ากำลังดำเนินการนั้น เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำไว้หรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เครือข่ายฯ เห็นว่าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เป็นโครงการขนาดใหญ่ รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
นายซูการ์โน เปิดเผยว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะ กมธ. และจะเชิญ ศอ.บต. และผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง กล่าวว่า ปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชนจะต้องศึกษาตั้งแต่กระบวนการเชิงยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะพื้นที่อุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ร่วมกันของพหุวัฒนธรรม จะต้องให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด
ขณะที่นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุ กมธ.พิจารณาศึกษาติดตามกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนจากการดำเนินโครงการของรัฐ ในคณะ กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ภายในสัปดาห์หน้า
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ด่วน! เครื่องบิน F5 ตกที่ อ.ชัยบาดาล ขณะฝึกทางยุทธวิธี
สึกแล้ว "พระมหาไพรวัลย์" เริ่มชีวิตฆราวาสวันแรก
จับตำรวจในคลิปยิงปืนใส่รถเมล์สาย 71 อ้างเครียดทะเลาะแฟน
ฝนตกหนัก! "ฝายบางริ้น" ระนองทรุดตัว เล็งของบซ่อม 35 ล้าน
รู้จัก "โอมิครอน" ฉบับเข้าใจง่ายก่อนเตรียมรับมือให้ทัน