นี่คือการขายสินค้าออนไลน์ที่ถูกใช้ชื่อว่า "กล่องสุ่ม 1 แสนบาท" กลายเป็นกระแสที่เรียกความสนใจในวงกว้างเมื่ออินฟลูเอนเซอร์ที่สวมบทบาทแม่ค้า เสนอขายชุดสินค้าปริศนาที่ผู้ซื้อต้องโอนเงินก่อน 100,000 บาท จากนั้นต้องรอลุ้นว่าจะได้สินค้าอะไรบ้าง
ปรากฎการณ์นี้ ผศ.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ที่เชี่ยวชาญด้านการตลาดและสร้างแบรนด์มองว่าเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้ถูกที่ถูกเวลา และถูกใจคนไทย
พื้นเพคนไทยชอบลุ้น ชอบเสี่ยงโดยเฉพาะเสี่ยงดวงยิ่งลุ้นโชคเท่าไหร่ จะยิ่งตื่นเต้นมากขึ้นเท่านั้น กล่องสุ่มเกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสมช่วงเวลา COVID-19 ที่ทำคนไทยเครียด และโหยหาความรู้สึกบวกๆมานาน

ชื่อว่า "สุ่ม" ย่อมมีความเสี่ยงแต่ผู้บริโภคจะได้รับความรู้สึกสนุกไปกับการลุ้น แม้ของที่ได้รับสุดท้ายอาจมีมูลค่าน้อยกว่าที่เสียเงินไป
ขณะที่สิ่งที่ผู้ขายได้รับ คือกระแสจากการแกะกล่องรีวิวของลูกค้าที่จำนวนมากเป็นคนดัง ผู้ขายและสินค้าจะถูกบอกต่อไปวงกว้างอย่างรวดเร็ว นักวิชาการมองว่า
ต้องยอมรับความจริงของกล่องสุ่ม สุ่มคือสุ่มเสี่ยง สุ่มเสี่ยงจะถูกใจ และไม่ถูกใจ จะยอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน และตอนนี้กล่องสุ่ม ทำหน้าที่ให้คนมีความสุขจากการได้ลุ้น แต่ก็เหมือนกับระเบิดเวลา เพราะยิ่งคนดังเท่าไหร่ คือความคาดหวังของลูกค้า
อ่านข่าวเพิ่ม "สินค้ากล่องสุ่ม" ได้ไม่คุ้มเสีย กฎหมายคุ้มครองหรือไม่ ?

เข้าข่ายการพนันม.8 เพราะถือเป็นการเสี่ยงโชค
เมื่อกลายเป็นกระแส หลายคนตั้งคำถามว่าการที่ให้ผู้ซื้อเสียเงินแล้วรอลุ้นมีความไม่แน่นอน จะถือว่าเป็นการพนันหรือไม่ นักกฎหมายมองต่างมุมกัน

ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ มองว่า มองว่าเข้าข่ายมาตรา 8 พ.ร.บ.การพนัน เพราะถือเป็นการจัดให้มีการเสี่ยงโชคโดยวิธีใดๆ ในการประกอบกิจการค้าหรืออาชีพต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานก่อนจึงจะทำได้ หากกระทำผิดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีปรับตั้งแต่ 50–2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนทนายรณรงค์ แก้วเพ็ชรมองว่า ไม่เข้าข่ายการพนัน เพราะเปรียบเหมือนการซื้อเสื้อผ้ามือสองยกโหลผู้ซื้อก็ไม่เห็นสินค้าเช่นเดียวกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ซื้อ "กล่องสุ่ม" อย่างไร ไม่ให้เสี่ยงถูกโกง ?
"กล่องสุ่มพิมรี่พาย" คอนเทนต์การตลาดดิจิทัลรูปแบบใหม่ ยอดขายปัง-ลูกค้าถูกใจ