วันนี้ (9 ธ.ค.2564) นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการอภัยโทษให้กับนักการเมืองและบุคคลที่มีชื่อเสียง ว่า การอภัยโทษเป็นการทั่วไป เป็นมาตรการอย่างหนึ่งเพื่อจูงใจให้ผู้ต้องขังประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยของเรือนจำ และพฤตินิสัยเพื่อเป็นคนดีของสังคมต่อไป โดยให้ได้รับการอภัยโทษตามความร้ายแรงของประเภทคดี และลดหลั่นตามชั้นของนักโทษเด็ดขาด ซึ่งเป็นไปตามหลักของอาชญวิทยาและทัณฑวิทยา ยืนยันว่าเป็นไปตามหลักสากล
นายอายุตม์ กล่าวว่า การอภัยโทษมี 2 รูปแบบ คือ การอภัยโทษเป็นการทั่วไป และการอภัยโทษเฉพาะราย โดยหลักการอภัยโทษทุกครั้ง จะแบ่งผู้ต้องขังเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัว ผู้ที่ได้รับการลดโทษ และผู้ที่ไม่ได้รับการลดโทษ
ซึ่งกลุ่มที่ได้รับการปล่อยตัว คือ ผู้ต้องกักขัง ผู้ที่ทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณะประโยชน์แทนค่าปรับ ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติที่เป็นผู้เจ็บ ป่วย พิการ ชราภาพ นักโทษเด็ดขาดที่เป็นผู้เจ็บ ป่วย พิการ ชราภาพ หรือจำคุกมานานจนใกล้พ้นโทษแล้ว เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ส่วนหนึ่งคือนักโทษที่ได้รับการพัฒนาพฤตินิสัยจนได้รับการเลื่อนชั้นเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม เหลือโทษไม่เกิน 2 ปี
ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวต้องเป็นนักโทษตั้งแต่ชั้นกลางขึ้นไป ไม่เป็นผู้กระทำความผิดซ้ำ ไม่เป็นผู้กระทำความผิดทางอาญาร้ายแรง หรืออาชญากรรมรุนแรง เช่น ปล้น ฆ่า ข่มขืน คดีทุจริต คดียาเสพติด
ส่วนกลุ่มที่ได้รับการพิจารณาลดโทษ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ตามความร้ายแรงของประเภทคดี และได้รับการลดโทษตามชั้นของนักโทษเด็ดขาด ได้แก่ กลุ่มคดีอาญาทั่วไป ชั้นเยี่ยมจะได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ 1 ใน 2, ชั้นกลาง ลดหย่อนผ่อนโทษ 1 ใน 5
ส่วนคดีอาญาร้ายแรงตามบัญชีแนบท้ายของ พ.ร.ฎ.อภัยโทษนั้น ชั้นเยี่ยมจะได้ลดโทษ 1 ใน 3, ชั้นกลาง จะได้ลดโทษ 1 ใน 6 ส่วนคดียาเสพติดรายย่อย ชั้นเยี่ยมจะได้ลดโทษ 1 ใน 5 และชั้นกลางจะได้ลดโทษ 1 ใน 8
ส่วนคดียาเสพติดรายใหญ่ ต้องได้รับโทษจำคุกในเรือนจำมาแล้วในระยะหนึ่ง ไม่ให้รับการอภัยโทษในครั้งแรก โดยชั้นเยี่ยมจะได้ลดโทษ 1 ใน 6 และชั้นกลางจะได้ลดโทษ 1 ใน 9
ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับการอภัยโทษมี 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เป็นนักโทษเด็ดขาด โทษประหารชีวิตที่เคยได้รับการลดโทษไปแล้ว, คดียาเสพติดรายใหญ่ที่ได้รับโทษจำคุกมาไม่นาน, ผู้ที่กระทำความผิดซ้ำที่ไม่ใช่นักโทษเด็ดขาดเป็นชั้นเยี่ยม และนักโทษชั้นต้องปรับปรุง หรือต้องปรับปรุงมาก หรือการกระทำความผิดอาญาร้ายแรง เช่น คดีฆ่า ข่มขืน
สำหรับการตรากฎหมายในครั้งนี้ กรมราชทัณฑ์เสนอหลักการใหม่ในส่วนของผู้ที่ได้รับการพักการลงโทษ หรือลดวันต้องโทษจำคุก จากเดิมเคยได้รับการปล่อยตัวทุกกรณี เป็นให้ได้รับการลดโทษที่เหลืออยู่ และลดระยะเวลาคุมประพฤติลงกึ่งหนึ่ง ยกเว้นคนเจ็บป่วย คนพิการ ชราภาพ ที่ให้ได้รับการปล่อยตัวเช่นเดียวกับนักโทษเด็ดขาด
ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการบริหารงานว่า เป็นไปภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกรอบของกฎหมาย ที่จะดูแลผู้ต้องขังทุกคนด้วยความเสมอภาค เท่าเทียมกัน และไม่เลือกปฏิบัติ หรือให้สิทธิประโยชน์ต่อผู้ต้องขังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และพร้อมให้โอกาสผู้กระทำผิดที่กลับตัวเป็นคนดีของสังคม