วันนี้ (9 ธ.ค.2564) ทีมข่าวลงพื้นที่บริเวณอาคารมหาทุน พลาซ่า ถนนเพลินจิต ย่านลุมพินี ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุที่่ชายวัย 26 ปี ก่อเหตุฆาตกรรมแม่ตัวเอง ตำรวจเปิดเผยว่า เหตุเกิดที่ลานจอดรถชั้น 4 ซึ่งเปิดศูนย์อาหาร วัตถุพยานในที่เกิดเหตุ ตำรวจพบถุงพลาสติก และมีด ซึ่งผู้ต้องหารับว่าฆาตกรรมแม่ แต่ไม่สามารถบอกมูลเหตุหรือแรงจูงใจได้
ตำรวจเปิดเผยข้อมูลว่า นายวรพล มีอาชีพเป็นวิศวกรของบริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งหนึ่งใน จ.ระยอง เคยมีประวัติรักษาอาการเครียดจากการทำงานที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง และก่อนเกิดเหตุ ผู้ต้องหาลาพักงานมาอยู่กับแม่
ขณะนี้ตำรวจส่งตัว นายวรพล ให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจสภาพทางร่างกายและอาการทางโรคจิตเวช ก่อนลงความเห็นทางคดี ส่วนครอบครัวยังไม่ติดต่อมาขอรับศพและแจ้งไม่ประสงค์ให้ข้อมูล
จิตแพทย์เผยความเครียดมีหลายระดับ
ไทยพีบีเอสพูดคุยกับ นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต ระบุว่าความเครียดมีหลายระดับขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลและสถานการณ์ ส่วนมากปัญหาระดับซึมเศร้าหรือระดับการวิตกกังวล จะนำมาซึ่งการทำร้ายตัวเอง แต่กรณีทำร้ายผู้อื่นมีบ้าง แต่ไม่มาก มักเกิดกับผู้ที่อยู่ในภาวะเครียดรุนแรงและสะสม
ภาวะเครียดช่วงคนวัยทำงาน ปัจจุบันมีมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากตัวเลขของผู้ที่เข้ารับการรักษาตามสถานพยาบาล สาเหตุมาจากทั้งเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ รูปแบบการทำงานที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ และเกิดขึ้นทั่วโลกไม่ใช่แค่ไทย แต่สิ่งที่น่ากังวลนอกจากไม่รู้ตัวว่าอยู่ในภาวะเครียด คือไม่กล้าบอกคนรอบข้าง ครอบครัว เพราะกลัวว่าจะไม่เข้าใจ และกลัวจะถูกมองว่าเรียกร้องความสนใจ
เราต้องเปิดใจรับฟังก่อน เน้นฟังเขา ถามสารทุกข์สุขดิบได้ แต่อย่าเพิ่งไปด่วนตัดสิน อย่าเพิ่งไปต่อว่า บางคนว่าเขาทำไมไม่กระชุ่มกระชวย ไม่ทำนู้น ทำนี่ คำพูดเหล่านี้เป็นคำที่ทำให้เขาแย่ลง
ต้องแสดงความเห็นอกเห็นใจก่อน กรณีนี้ถ้ามีการรับฟังก่อนจะดีขึ้น แต่ถ้าเราพูดคุยแล้วไม่โอเค ยังเอาไม่อยู่ แนะนำว่าพาเขาไปหาหมอด้วยกันจะดีที่สุด
จิตแพทย์แนะนำว่า ครอบครัวและคนรอบข้างมีส่วนสำคัญมาก ที่จะคอยสังเกตอาการของคนที่เข้าข่ายภาวะเครียด ดูได้จากอาการเซื่องซึม พูดคุยน้อย ไม่ร่าเริง เป็นสัญญาณพื้นฐาน ซึ่งสิ่งแรกที่ควรทำคือ เปิดใจรับฟัง เพราะหลายครั้ง เมื่อคนรอบข้างรับฟัง อาจจะช่วยให้ความเครียดลดน้อยลงได้