ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ลูกหาบภูกระดึงขาดแคลน กระทบร้านค้าไม่มีน้ำขวดขาย

ภูมิภาค
12 ธ.ค. 64
15:34
712
Logo Thai PBS
ลูกหาบภูกระดึงขาดแคลน กระทบร้านค้าไม่มีน้ำขวดขาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึงโต้น้ำดื่มขาดแคลน ยืนยันอุทยานฯ มีตู้กดน้ำให้บริการ ส่วนร้านอาหารต้มน้ำฝนรองรับลูกค้า หลังลูกหาบภูกระดึงไม่พอ ลามร้านค้าไม่มีน้ำขวดขาย

วันนี้ (12 ธ.ค.2564) สื่อสังคมออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์กรณีนักท่องเที่ยวพิชิตภูกระดึงเตือนให้นักท่องเที่ยวคนอื่น ๆ เตรียมอุปกรณ์ใส่น้ำดื่มมากดน้ำของอุทยานแห่งชาติ หรือซื้อน้ำเตรียมไว้ก่อนขึ้นภู เนื่องจากน้ำขาดแคลน


ล่าสุด นายสำเร็จ ภูแสนศรี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า น้ำดื่มชนิดขวดที่มีขายตามร้านค้าบนภูกระดึงกว่า 30 ร้านหมด เนื่องจากลูกหาบขาดแคลน ทำให้ไม่สามารถขนน้ำขึ้นไปให้ร้านค้าบริการนักท่องเที่ยวได้ โดยในปีนี้มีลูกหาบที่มาลงทะเบียนและให้บริการนักท่องเที่ยวเพียง 214 คน ลดจากปีก่อนที่มีอยู่กว่า 280 คน ขณะที่นักท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาวเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 9 ธ.ค.2564 จำนวน 2,024 คน
วันที่ 10 ธ.ค.2564 จำนวน 980 คน
วันที่ 11 ธ.ค.2564 จำนวน 800 คน
วันที่ 12 ธ.ค.2564 จำนวน 404 คน


ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจำนวนมากเพื่อรับลมหนาว ทำให้เหล่านักหาบต้องขนสัมภาระกันหลายเที่ยว ร่างกายหลายคนเริ่มอ่อนล้า จนไม่สามารถรับงานขนน้ำขวดขึ้นไปให้ร้านค้าได้ 


อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารบนภูกระดึงได้มีการจัดเตรียมน้ำฝนต้มสุกไว้บริการลูกค้าที่เข้าไปรับประทานอาหาร ขณะเดียวกันอุทยานแห่งชาติภูกระดึงเองมีบริการตู้กดน้ำดื่มให้นักท่องเที่ยวได้มาเติมน้ำอย่างเพียงพอ ส่วนน้ำขวดสำหรับร้านค้าคาดว่าภายในวันพรุ่งนี้ลูกหาบจะสามารถหาบขึ้นมาส่งได้ เนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลงหลังช่วงหยุดยาว

ธ.ค.-ม.ค.ปีก่อน อุทยานฯ ประกาศปิดเพราะ COVID-19 ระบาดหนัก ทำให้ร้านค้าไม่กล้าเตรียมสินค้าสำรองไว้รับนักท่องเที่ยวจนเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น แต่หยุดยาวครั้งต่อไปคาดว่าจะมีการเตรียมความพร้อมมากกว่านี้

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ยังได้กล่าวถึงปัญหาลูกหาบขาดแคลนว่า มาจาก 3 ปัจจัย คือ อายุของลูกหาบรุ่นเก่าที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่สามารถทำงานต่อได้ อีกปัจจัยคือการสืบทอดอาชีพจากพ่อแม่ที่เริ่มหายไป เพราะลูกหลานส่วนใหญ่เลือกที่จะไปเรียนและทำงานอื่นแทนการเป็นลูกหาบที่ได้ค่าแรงกิโลกรัมละ 30 บาท

ปัจจัยสุดท้ายคือ อุทยานฯ เปิด 8 เดือน ปิด 4 เดือน ช่วงที่ปิดลูกหาบบางส่วนไปหางานทำที่มีรายได้มั่นคง ประกอบกับสถานการณ์ COVID-19 ที่ไม่แน่นอน  ทำให้หลายคนตัดสินใจที่จะไม่กลับมาทำงานนี้อีก 


ทั้งนี้ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ฝากถึงนักท่องเที่ยวว่า ขอให้ช่วยกันปรับเทรนด์การท่องเที่ยวใหม่ นำสิ่งของจำเป็นเท่านั้นในการขึ้นภูกระดึงหรือขึ้นดอยต่าง ๆ ท่ามกลางจำนวนลูกหาบที่ลดลงทุกปี ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เมื่อทราบว่าลูกหาบไม่พอ หลายคนก็เลือกที่จะนำของไม่จำเป็นไปเก็บบนรถแล้วสะพายเป้พิชิตภูกระดึงกันเอง เป็นการเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ท้าทายไปอีกรูปแบบหนึ่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง