ในการสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “การทูตไทยและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ” เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2564 นายวิศาล บุปผเวส จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ความจำเป็นเร่งด่วนของการทูตเพื่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยในปัจจุบันคือ การเข้าเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้า สำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership—CPTPP) เพราะประเทศไทยพลาดและเสียโอกาสมานานแล้วในการเชื่อมต่อห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ
ความตกลงนี้เดิมริเริ่มโดย สิงคโปร์ ชิลี นิวซีแลนด์ และบรูไน ในปี 2548 ภายใต้ชื่อว่า หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ต่อมาได้ปรับปรุงความตกลงให้มีความครอบคลุมและก้าวหน้ามากขึ้น หลังจากสหรัฐอเมริกา ถอนตัวในปี 2550
ปัจจุบันมีสมาชิกคือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับการทาบทามโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากญี่ปุ่นให้เข้าร่วมโครงการนี้ แต่มีข้อกังวลเรื่องผลกระทบ เรื่องการเกษตรและสิทธิบัตรยา ทำให้รัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาเกิดความลังเลในการเข้าเป็นสมาชิก
ไม่ใช่แค่ควรรีบเข้า แต่ควรชวนเพื่อนอาเซียนเข้าร่วมด้วย เพื่อสร้างพลังอาเซียน เป็นอำนาจของอาเซียนในเวทีโลก ถ้าไทยไม่เข้าก็ถือว่าตัด supply chain ที่ญี่ปุ่นเกี่ยวข้องออกไป ข้อคัดค้านอาจจะมี แต่เราจะให้ปัญหาเดียวมาทำลายทั้งหมดไม่ได้ ตรงนั้นเราสามารถต่อรองได้
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สำหรับความกังวลไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาคเกษตร ยา หรือการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ก่อนหน้านี้เคยมีข้อสรุปว่า สามารถที่จะใช้ช่องทางการเจรจาเพื่อคลี่คลายได้ โดยใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎร ผ่านการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ
แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือ ข้อเสนอไม่ได้รับความสนใจมากนัก ทำให้ตอนนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนสำหรับเรื่องนี้ และยังมีปัจจัยภายนอกจากการที่ จีนและไต้หวัน แสดงความต้องการเข้าร่วม ทำให้มีการต้องศึกษาผลประโยชน์ตรงนี้กันใหม่
ปัจจุบันมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 2 กลุ่มคือ CPTPP และ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership—RCEP) ซึ่งมี 10 ประเทศอาเซียนเป็นแกนกลางร่วมกับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จัดได้ว่าเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตกับทั่วโลก
เราต้องเป็นส่วนหนึ่งของทั้งสองวงนี้ ไม่สามารถเลือกวงใดวงหนึ่งได้ ทางฝั่งเอเชียเรามี RCEP แต่ทางฝั่งอเมริกาเรายังล้าหลังอยู่ รวมถึงเรื่อง CPTPP ที่เราต้องให้ความสำคัญ เราต้องมาดูว่าอันไหนมีส่วนได้ส่วนเสียมากกว่า พรรคเพื่อไทยมองว่าเป็นข้อตกลงที่อย่างน้อยก็ต้องเข้าไปเจรจา
เขายังเสนอกลยุทธ์ 7 ข้อด้วย คือ 1.ประเทศไทยต้องแสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก 2.เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญของโลกรวมทั้ง CPTPP และ RCEP 3.ครองห่วงโซ่การผลิตของโลก 4.มีกลยุทธ์ทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ 5.ปรับโครงสร้างการดึงดูดการลงทุน 6.สร้างอุตสาหกรรมจากกำลังซื้อกลุ่มใหม่ๆ และสุดท้ายคือสร้างความเติบโตโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
“เราต้องเติบโตด้วยความรับผิดชอบ บทบาทของไทยในเวทีโลก เรื่องสิ่งแวดล้อม ถือว่าล้าหลังมาก ทั้งในมิติของบทบาทและมาตรการเชิงรูปธรรมที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากเรื่องสิ่งแวดล้อมคือเรื่องของการขยายบทบาทความร่วมมือสาธารณสุขที่ไทยยังก็ล้าหลังอยู่มาก” รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าว
น.ส.ณัฎฐิมา วิชยภิญโญ เลขาธิการคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคกล้า เสนอว่า ไทยต้องสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศโดยจะต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน มีจุดโฟกัสและวิเคราะห์ต้นทุนให้ถูกต้อง มีเป้าหมายที่แน่นอน สื่อสารให้ชัดเจนและปรับโครงสร้างการบริหารงานเศรษฐกิจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากขึ้น
เธอเสนอแนะว่า ประเทศไทยมี 2 สิ่งที่ควรดำเนินการคือ สร้างบทบาทให้กับประเทศไทยในเวทีโลกให้มากกว่านี้ เพราะไทยละเลยการสร้างความเชื่อมั่นมาระยะหนึ่ง ใกล้ที่สุดที่ทำได้คืออาเซียน และไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ทางการทูตแบบ “ไผ่ลู่ลม”
เรารอลมไม่ได้ มันเป็นการตั้งรับเกินไป เราไม่สามารถรอดูสถานการณ์ แล้วดูท่าทีว่าจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้นนโยบายต่างประเทศอาจต้องมองว่า เรามีทางไหนที่จะเข้าไปมีบทบาททางการทูต ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและอื่นๆ กับทุกคนทุกรูปแบบไม่จำกัดเฉพาะมหาอำนาจ
เรื่องที่เอาชนะได้โดยเร็ว คือการสร้างเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศ สิ่งเหล่านี้ ถ้าเราทำได้ก็จะสามารถพลิกฟื้นเรื่องของเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยได้
นายกอบศักดิ์ ชุติกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่า ระเบียบทางเศรษฐกิจของโลกกำลังเปลี่ยนแปลง องค์กรทางเศรษฐกิจระดับโลก เช่น องค์การการค้าโลก หยุดชะงัก หลายประเทศแยกตัวออกไปตั้งกลุ่มหรือองค์กรทางเศรษฐกิจใหม่ๆ มากมาย ประเทศไทยมีความจำเป็นจะต้องปรับตัวอย่างมาก
“โดยเริ่มต้นอาจเป็นที่โครงสร้างภายในของเราเอง โครงสร้างรัฐราชการ การตัดสินใจการมองวิสัยทัศน์ไปข้างหน้าเป็นอย่างไร” อดีตอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศกล่าว
“อาจต้องกลับไปหาแนวความคิดที่เคยมีคือ ก่อตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ผมว่ามันมีความจำเป็นกับประเทศ เพราะเป็นระบบราชการที่มีการสั่งการลงมา ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ อันนี้ถึงเป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้กับต่างประเทศเห็นว่าเรามุ่งไปทางไหน ซึ่งก็กลับมาที่ว่าในเฉพาะหน้าเราจะทำอะไรและจะมีอะไรเกิดขึ้น ก็อาจจะไปดูที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development- OECD) เขาเสนอ สิ่งที่ไม่ต้องใช้เงินเลยคือ หั่นระเบียบข้อบังคับกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่สะสมมา ตัดอุปสรรคต่างๆ ก็จะดึงดูดคนเข้ามา” นายกอบศักดิ์กล่าว