วันนี้ (16 ธ.ค.2564) ตัวแทนสหภาพแรงงาน ไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ซึ่งนำโดยนายเซีย จำปาทอง ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือขอให้กระทรวงแรงงานนำงบประมาณกลางของรัฐบาลมาเยียวยาพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง และเงินช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง โดยมีนายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน มารับหนังสือและชี้แจงเหตุผล
นายเซีย เปิดเผยว่า เดินทางมาติดตามความคืบหน้าเงิน 2 เรื่อง ประเด็นแรก คือขอค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้างกว่า 242 ล้านบาท จากงบประมาณกลางของรัฐบาล จ่ายเยียวยาให้ลูกจ้างก่อน แล้วค่อยไปติดตามกับนายจ้างภายหลัง ซึ่งเคยยื่นหนังสือขอให้ช่วยเหลือไปแล้วตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และล่าสุดเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
ส่วนอีกประเด็น คือเงินช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่ต้องจ่ายเพิ่มอีก 30 เท่า ของค่าแรงงานขั้นต่ำของแรงงาน ซึ่งกองทุนฯ นี้สามารถมาจ่ายให้แรงงานที่ถูกนายจ้างลอยแพ ไม่ให้ความช่วยเหลือค่าชดเชยกว่า 10 ล้านบาท
นายวรรณรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าไม่สามารถนำเงินจากงบประมาณกลางของรัฐบาล 242 ล้านบาท มาใช้จ่ายเป็นเงินเยียวยาพนักงานที่ถูกเลิกจ้างได้ เพราะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับบริษัทเอกชนกับลูกจ้าง แต่กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตำรวจและฝ่ายต่างๆ อยู่ระหว่างการดำเนินการสืบทรัพย์ของบริษัทที่นายจ้างลอยแพหนีไป เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนยึดทรัพย์ต่อไป ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร
ส่วนเงินช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพิ่มอีก 30 เท่า ของค่าแรงงานขั้นต่ำของแรงงาน ล่าสุด มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวานนี้ (15 ธ.ค.) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นวันแรก โดยกลุ่มลูกจ้างสามารถไปแจ้งยื่นคำร้องที่สำนักงานแรงงาน จ.สมุทรปราการ ได้เลยตั้งแต่ตอนนี้
ทั้งนี้ กลุ่มแรงงาน ไทรอัมพ์ฯ มีผู้ถูกเลิกจ้างรวม 1,388 คน เมื่อเดือน มี.ค.2564 และเกิดปัญหานายจ้างปิดโรงงาน ลอยแพแรงงาน และไม่ได้จ่ายเงินชดเชย ทำให้แรงงานเข้าร้องเรียนขอความช่วยเหลือตามสิทธิดังกล่าว ขณะที่สหภาพแรงงานฯ ระบุว่า แรงงานที่เดินทางมาในวันนี้ หลายคนตกงานตั้งแต่เดือน มี.ค. จนถึงบัดนี้ยังไม่มีงานใหม่ เนื่องจากหลายคนมีอายุเกินการรับสมัคร และอีกหลายคนไม่ถนัดสายงานอื่น
ส่วนกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ยังมีอัตราการจ้างงานที่ว่างอยู่ตามโรงงาน บริษัท หรือภาคบริการต่างๆ อยู่อีกประมาณ 10,000 อัตรา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
พนง.ผลิตชุดชั้นในบุกทำเนียบ ร้องรัฐจ่ายชดเชยตกงาน 1,388 คน
พนักงาน 800 คน โรงงานผลิตชุดชั้นในยี่ห้อดัง ถูกเลิกจ้างฟ้าผ่า