ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“อานันท์” แนะทางรอด ใช้การทูต ดีกว่าสะสมอาวุธ

ต่างประเทศ
17 ธ.ค. 64
16:00
510
Logo Thai PBS
“อานันท์” แนะทางรอด ใช้การทูต ดีกว่าสะสมอาวุธ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อดีตนายกฯ “อานันท์ ปันยารชุน” และนักการเมืองรุ่นใหม่แนะไทย กำหนดยุทธศาสตร์การต่างประเทศใหม่ เน้นคุณค่าใหม่ของโลก เช่น ความเท่าเทียม สิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ใช้จุดแข็งด้านอาหาร สุขภาพและลักษณะทางภูมิศาสตร์ในการพัฒนาและแสดงบทบาทนำในโลก

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งแรกที่ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องทำ เพื่อให้สามารถมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ และรักษาผลประโยชน์ของชาติเอาไว้ได้คือ การเร่งกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก

สิ่งแรกที่ไทยต้องมีคือ ยุทธศาสตร์ว่าเราต้องการอะไร เราคงไม่ต้องการเป็นมหาอำนาจ แต่ต้องการมีบทบาทพอสมควรในเวทีระหว่างประเทศ แต่ต้องคำนึงถึงว่าเราเป็นประเทศเล็ก พลเมืองเพียง 65-66 ล้านคน พลังต่างๆ มีน้อย พลังทางเศรษฐกิจอ่อนแอ พลังทางทหารก็ไม่จำเป็นต้องมีมากมาย

เราต้องคำนึงว่า อะไรเป็นภัยคุกคามของประเทศไทย ที่มันคุกคามจริงๆ ผมว่าภัยจากภายนอกนี่น้อยมาก แต่ถ้าคิดว่าเราต้องเตรียมอาวุธเอาไว้ต่อสู้ ผมคิดว่าเป็นนโยบายที่มองไม่ไกลพอ แต่เราต้องใช้วิถีทางทางการทูต ทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่จะทำให้ประเทศไทยอยู่รอดได้

การสัมภาษณ์เป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “อนาคตการทูตไทยและประเด็นข้อท้าทายของโลก” เมื่อวันที่ 18 พ.ย. จัดโดยมูลนิธิสุรินทร์ พิศสุวรรณร่วมกับสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ไทยพีบีเอส (Thai PBS) และ เอเชีย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (Asia News Network)

ความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในโลกเช่น โลกาภิวัฒน์ ความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ภาวะโลกร้อน ล้วนแล้วแต่สร้างผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกรัฐบาลต้องมีแผนทางด้านเศรษฐกิจ-สังคมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบของมัน และถ้ามีแผนอยู่แล้วต้องดูว่าจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้สอดคล้องกับสถานการณ์

เราอย่าไปกลัวความเปลี่ยนแปลง พุทธศาสนาบอกว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่แน่นอนถาวรที่สุด แต่เราต้องรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นจะนำไปสู่อะไร และจะต้องจัดการกับความเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไร

อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นักการทูตรุ่นใหม่ต้องมีความรอบรู้ในความเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกเรื่องทุกประเด็น ต้องกระตือรือร้นที่จะศึกษาเรื่องต่างๆ ให้มาก ประการสำคัญคือการทูตสมัยใหม่ต้องรับฟังความเห็นของประชาชนจากทุกทิศทาง แม้ความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียอาจจะไม่ถูกต้องครบถ้วนแม่นยำนักก็ตาม

น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร ส.ส. พรรคเพื่อไทยและโฆษกคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาช่องว่างระหว่างเจนเนอเรชั่น (Generation gap) การละเมิดสิทธิมนุษยชน และภาวะโลกร้อน แม้บางประเด็น เช่นสิทธิมนุษยชน อาจจะมีกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ และประเทศไทยก็ได้ประกาศเจตนา (commitment) ในเวทีสากลไปแล้ว แต่กฎหมายรองหรือการปฏิบัติภายในประเทศยังไม่ชัดเจนและสอดคล้องกัน

น.ส.ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคไทยสร้างไทย เห็นเหมือนกันว่าประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญที่ควรบรรจุเอาไว้ในนโยบายต่างประเทศของไทย

จุดยืนเรื่องสิทธิมนุษยชนของไทยยังไม่ดีเท่าทีควร เช่น เรื่องเมียนมาร์ก็ประกาศช้ามากเมื่อเปรียบกับประเทศอื่นในอาเซียน หรือเรื่องสิทธิมนุษยชนในไทยเองก็ไม่ได้ดีนัก ในเรื่องสภาวะความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกประเทศไทยก็ยังไม่ได้มีบทบาทที่โดดเด่นในเวทีสากล

น.ส.ธิดารัตน์กล่าวต่อว่า ประเด็นเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างแน่นอน เพราะประเทศที่มีหลักปฏิบัติเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจจะถูกลงโทษทางด้านการค้า เช่น ถูกเก็บภาษีสินค้าที่ส่งไปขายในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

น.ส.เพชรชมพู กิจบูรณะ อดีตโฆษกกรรมาธิการต่างประเทศและอดีตส.ส. พรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวว่าประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินการทางการทูตให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น ยุทธศาสตร์ 5 เอส คือ Security (ความมั่นคง) Sustainability (ความมั่งคั่ง ยั่งยืน) Standard (มีมาตรฐานสากล) Status (มีสถานะและเกียรติภูมิ) และ Synergy (การประสานหรือทำงานร่วมกัน)

ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านการต่างประเทศนั้น ไม่สามารถตอบโจทย์ใหม่ๆ ทางด้านต่างประเทศได้ทั้งหมด เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำ สิทธิมนุษยชนและสภาวะความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกนั้นยังไม่ได้มีการลงรายละเอียดที่จะปฏิบัติออกมาอย่างเป็นรูปธรรมได้

นายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ แสดงความเห็นในเชิงคัดค้านกับผู้ร่วมอภิปรายว่า ประเทศไทยอาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงจุดยืนทางการเมืองระหว่างประเทศให้ชัดเจนในทุกเรื่อง ทุกประเด็น เช่น ปัญหาสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมนั้น ประเทศไทยทำได้เพียงการประกาศเจตนารมย์หรือแสดงความคาดหวังว่าจะเดินไปในทางที่ควรจะเป็นตามอุดมคติ

การทูตมีความละเอียดอ่อนและหลักปฏิบัติของมัน ในทางการทูตแล้วเราไม่จำเป็นต้องเลือกหรือแสดงจุดยืนที่เข้มแข็งเสมอไปก็ได้ บางทีเราอาจจะไม่ต้องเลือกที่จะเป็นผู้นำ แต่เลือกที่จะเป็นสะพานเชื่อมมากกว่า บางประเทศอาจจะมีจุดยืนชัดเจน แสดงบทบาทนำได้ แต่บางประเทศก็ทำอย่างนั้นไม่ได้

ความสำเร็จทางการทูตไม่ได้วัดกันตรงที่แสดงจุดยืนที่เข้มแข็งหรือไม่ บางทีสภาพหรือทัศนะทางการเมืองภายในประเทศ อาจจะไม่อนุญาตให้การทูตแสดงจุดยืนอะไรได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ประสบความสำเร็จอะไรในทางการทูตเลย

เราได้รับการสั่งสอนกันมาในกระทรวงต่างประเทศว่า บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องดำเนินการทูตแบบกระตือรือร้น (pro-active) ก็ได้ บางครั้งเราทำงานเบื้องหลังก็สามารถบรรลุเป้าหมายทางการทูตได้

นายณัฐภาณุ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยดำเนินการทางการทูตหลายแบบ รวมทั้งการทูตดิจิตัลและการทูตสาธารณะ โดยการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่เพื่อเข้าถึงสาธารณะมากขึ้นหรือปรากฎตัวในสาธารณะมากขึ้น เพื่อเชื่อมโยงท้องถิ่นไทยเข้ากับโลกหรือเชื่อมโยงโลกให้เข้ากับท้องถิ่นของไทย ใช้เครื่องมือใหม่ๆ ในการเชื่อมโยงในลักษณะที่ข้ามพรมแดน ข้ามวัฒนธรรม และมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดช่องว่างระหว่างเจนเนอเรชั่นด้วย

รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวด้วยว่า ในอนาคตประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลก สิทธิมนุษยชน และความเหลื่อมล้ำจะเป็นแกนกลางของการดำเนินการทางทูตของไทย

นักการเมืองรุ่นใหม่ทั้งหมดที่ร่วมอภิปราย มีความเห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของประเด็นด้านต่างประเทศ พิจารณาจุดอ่อนจุดแข็งของไทยก่อนที่จะกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อแสดงบทบาทนำในเวทีระหว่างประเทศ

น.ส.สรัสนันท์ จากพรรคเพื่อไทย เสนอว่า ประเทศไทยต้องเริ่มต้นจากการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองก่อน ลดอุณหภูมิทางการเมืองและเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ให้ได้โดยเร็ว ต้องมองหาสิ่งที่ทำให้เกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจอันใหม่หลังจากที่การท่องเที่ยวและการส่งออกได้รับผลกระทบจากโรคระบาดดังกล่าว

ส่วนน.ส.ธิดารัตน์ เสนอว่า ไทยควรเน้นพัฒนาสิ่งที่เป็นจุดแข็งคือ ด้านอาหาร บริการสาธารณสุขและใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ เช่น คลองไทยที่สามารถเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดียเพื่อพัฒนา โลจิสติกส์และการคมนาคม

อย่างไรก็ตาม ผู้ร่วมอภิปรายทั้งหมดมีความเห็นสอดคล้องกันว่า แม้ว่านโยบายต่างประเทศจะไม่สามารถใช้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งได้อย่างกว้างขวาง แต่นักการเมืองทุกคนไม่ได้ปฏิเสธความสำคัญของการต่างประเทศและให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ เสมอ อีกทั้งพยายามเชื่อมโยงสถานการณ์ของโลก การเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และประเด็นต่างๆ กับนโยบายภายในประเทศและสื่อสารกับประชาชนในวงกว้างเสมอ

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง