วันนี้ (17 ธ.ค.2564) ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศฉบับที่ 8/2564 เรื่องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณแม่น้ำสายบุรี และ แม่น้ำโก-ลก โดยมีรายละเอียดว่า
ตามที่ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ติดตามประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ร่วมกับคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ โดยได้มีประกาศแจ้งเตือนฉบับที่ 7/2564 ลงวันที่ 13 ธ.ค.2564 ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในช่วงวันที่ 15-19 ธ.ค.2564 นั้น
จากการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง โดยเฉพาะพื้นที่ จ.นราธิวาส พบว่า มีฝนตกอย่างต่อเนื่องในทุกอำเภอ ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมไหลลงแม่น้ำมากขึ้น และตามคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา 24 ชั่วโมงข้างหน้า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักมากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงวันที่ 16-17 ธ.ค.นี้ มากกว่า 150 มิลลิเมตร โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณตอนบนของแม่น้ำสายบุรีและแม่น้ำโก-ลก จ.นราธิวาส และเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงต่อเนื่อง จึงเน้นย้ำให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นเสี่ยงน้ำล้นสูงกว่าตลิ่ง ไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ จ.นราธิวาส ในช่วงวันที่ 18-19 ธ.ค.2564 ดังนี้
1. แม่น้ำสายบุรี คาดการณ์ระดับน้ำบริเวณ อ.สุคิริน ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 5-7 เมตร และบริเวณ อ.ศรีสาคร ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 4-5 เมตร อาจส่งผลกระทบให้เกิดน้ำล้นตลิ่งในที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบริเวณ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ประมาณ 0.20-0.40 เมตร
2. แม่น้ำโก-ลก คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 3–4 เมตร ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบริเวณ อ.แว้ง และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ประมาณ 0.30-0.50 เมตร
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้ ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ, ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาความเหมาะสมในการระบายน้ำในลำน้ำ/แม่น้ำให้สอดคล้องกับการขึ้น–ลงของระดับน้ำทะเล, ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงแนวคันบริเวณริมแม่น้ำ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และปิดท่อระบายน้ำริมแม่น้ำเพื่อป้องกันน้ำไหลย้อนเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน
รวมถึงการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลาก ป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ, เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที, ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงที