ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"แปลงเพศ" เปลี่ยนกายให้ตรงใจ แต่ใช่ว่าจะถึงฝันในทุกคน

สังคม
21 ธ.ค. 64
12:02
1,469
Logo Thai PBS
"แปลงเพศ" เปลี่ยนกายให้ตรงใจ แต่ใช่ว่าจะถึงฝันในทุกคน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"แปลงเพศ" อาจไม่ง่ายถ้าจะทำแค่ตามต้องการ แต่ต้องทำเพื่อให้ตรงกับจิตใจที่เป็นจริง และก็ใช่ว่าจะได้ดั่งใจปรารถนาทุกอย่าง เพราะมีปัจจัยรอบข้างมากมาย ที่ต้องปรึกษาทั้งแพทย์ทางกาย และหมอทางใจ

ความหลากหลายทางเพศ เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสังคมไทย หลายคนจึงอยาก "แปลงเพศ" เพื่อเปลี่ยนแปลงร่างกายที่ไม่ตรงกับจิตใจตัวเอง ให้ได้ชีวิตอย่างที่ใจปรารถนา แต่ก่อนผ่าตัด การหาข้อมูลให้ถี่ถ้วนและรอบด้านมากที่สุดจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อป้องกันผลเสียที่จะตามมาคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่า เมื่อตัดสินใจอยากจะแปลงเพศ ต้องมีข้อมูลอะไรบ้าง รวมไปถึงข้อดี ข้อเสีย ข้อพึงระวังจะเป็นอย่างไร

 

นพ.ธนภพ บำเพ็ญเกียรติกุล ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในอดีตอาจมีคนเคยมองว่า การเป็น “เพศทางเลือก” หรือ “คนข้ามเพศ” เป็นคนผิดปกติ จะต้องรักษาจิตใจให้ตรงกับร่างกาย ปัจจุบันเห็นแล้วว่า ทำอย่างนั้นมันไม่เวิร์ค ส่งผลต่อสภาพจิตใจ ทุกข์ทรมาน มีการฆ่าตัวตาย ภาวะซึมเศร้า เครียด แต่เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น จึงต้องเปลี่ยนร่างกายให้ตรงกับใจ คุณภาพชีวิตเขาจะดีขึ้น ความสุขก็เพิ่มขึ้นตาม

"ให้ร่างกายตรงกับจิตใจ ตรงกับที่อยากเป็น จะได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างที่ใช่ และความสุข"

รู้จักเพศที่หลากหลาย ?

นพ.ธนภพ กล่าวว่า ความหลากหลายทางเพศต้องดูตามความนิยามก่อน เรื่องของเพศมีมิติหลากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เพศสรีระ หรือ เพศโดยกำเนิด เกิดมาเป็นหญิง เกิดมาเป็นชาย เกิดมามีเพศที่กำกวม ดูตามลักษณะทางกายวิภาค ตามอวัยวะ ฮอร์โมนหรือโครโมโซม

อย่างที่ 2 คือ อัตลักษณ์ทางเพศ คือความรู้สึกนึกคิด สำนึกภายในว่า เป็นเพศหญิงหรือชาย หรือเป็นเพศตรงกลาง เป็นเพศอื่น ๆ อย่างที่ 3 คือ รสนิยมทางเพศ เพศรส ชอบผู้หญิงหรือชอบผู้ชาย ชอบทั้ง 2 เพศ หรือไม่ชอบเพศใดเลย อย่างที่ 4 คือ การแสดงออกทางเพศว่า แสดงออกแบบหญิงหรือชาย ตามบรรทัดฐานของสังคม

หรือจะนิยามเพศหลัก ๆ ตาม 4 แกน เช่นบอกว่า เป็นเกย์ถ้าเกิดมาเป็นผู้ชาย แล้วก็ชอบผู้ชาย หรือจะบอกว่าเป็นเลสเบี้ยน หากเป็นผู้หญิง แล้วชอบผู้หญิงด้วย

หากเราเป็นคนข้ามเพศ หมายถึงว่ามีเพศสภาพโดยกำเนิดเพศหนึ่ง แล้วมีอัตลักษณ์ทางเพศ ความรู้สึกข้างในว่าเราเป็นอีกเพศหนึ่ง เช่น เกิดมาเป็นชายแล้วรู้สึกว่าตัวเองเป็นหญิง อย่างนี้เรียกว่าเป็นหญิงข้ามเพศ หรือตรงกันข้าม ถ้าเกิดมาเป็นหญิงแล้วรู้สึกว่า จริง ๆ แล้วเป็นผู้ชาย เรียกว่า ชายข้ามเพศ

ความซับซ้อนจะมีเพิ่มขึ้นไปอีก เช่น ในชายข้ามเพศบางคนอาจจะเป็นเกย์ด้วย เช่น เกิดเป็นหญิงแต่รู้สึกว่าต้องเองเป็นชาย แล้วชอบผู้ชาย อันนี้เป็นชายข้ามเพศที่เป็นเกย์ ในทางกลับกันอาจมีหญิงข้ามเพศที่เป็นเลสเบี้ยน คือ เกิดเป็นชาย รู้สึกว่าตัวเองเป็นหญิงแล้วก็ชอบผู้หญิงด้วย

จะเข้ารับคำปรึกษาต้องทำอย่างไร ?

นพ.ธนภพ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่จะเข้ามารับบริการปรึกษาเพื่อการข้ามเพศ สิ่งแรก คือพาตัวเองเข้ามารับบริการก่อน เริ่มจากความรู้สึกไม่มั่นใจ ว่า อยากมารับบริการเพิ่มเติม ถ้ามาคลินิกสุขภาพเพศ จะให้การปรึกษาพูดคุยก่อน ในกรณีที่จำเป็นก็จะส่งต่อให้พูดคุยกับจิตแพทย์ เพื่อยืนยันว่าเป็นคนข้ามเพศจริง ๆ ไม่ได้เป็นกลุ่มอาการอย่างอื่น

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่มีเพศหลากหลายมักจะมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่า คนทั่วไป ทั้งเรื่องของซึมเศร้า ใช้สารเสพติด การฆ่าตัวตาย คนกลุ่มนี้ถูกเลือกปฎิบัติมาทำให้ไม่ได้รับสิทธิที่ควรได้ ฉะนั้นทุกคนจะได้พบจิตแพทย์ เพื่อพูดคุยวินิจฉัยก่อนว่า จะไปสู่กระบวนการต่อไปได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการให้ฮอร์โมน หรือผ่าตัดแปลงเพศ

การผ่าตัดแปลงเพศเป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งใหญ่ ไม่สามารถกลับมาในเพศเดิมได้อีก ดังนั้นการศึกษาหาข้อมูลและเลือกปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงทำในโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานจึงจำเป็น เพื่อให้ได้ร่างกายตรงใจ ตามเพศที่ต้องการ ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

แปลงเพศได้ต้องอายุเท่าไร ?

นพ.ธนภพ กล่าวถึงความพร้อมในการแปลงเพศว่า ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้รับบริการ บางคนต้องการข้ามเพศในวัยรุ่น อีกคนกลับต้องการหลังอายุ 40-50 ปีแล้ว ซึ่งผู้รับบริการที่มีอายุ 18-20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เป็นไปตามข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เรื่องเกณฑ์การรักษาเพื่อแปลงเพศ พ.ศ.2552 ในส่วนของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะได้รับการรักษาโดยพิจารณาเป็นคนๆ ไป ต้องมีจิตแพทย์เด็ก นักสังคมสงเคราะห์ เข้ามาทำความเข้าใจ เพราะยังให้ความยินยอมด้วยตัวเองไม่ได้

ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว โอกาสเปลี่ยนใจมีหรือไม่ ?

นพ.ธนภพ กล่าวว่า การเข้ารับบริการเพื่อการข้ามเพศ ทุกคนจะต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยจิตแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อต้องการความมั่นใจจากผู้ที่เข้ารับบริการว่า ผู้เข้ารับบริการมีจิตใจที่มุ่งมั่น และจะไม่เสียใจในภายหลัง

ส่วนการเตรียมความพร้อม แต่ละเคสก็ไม่เท่ากัน หากเคสไหนที่ตรงไปตรงมา สุขภาพจิตดี มั่นใจว่าเป็นคนข้ามเพศแน่นอนไม่มีปัญหา อาจจะได้รับฮอร์โมนตั้งแต่ครั้งแรก แต่เคสไหนสุขภาพกายอาจเป็นอุปสรรคในการข้ามเพศ สุขภาพใจ ก็อาจต้องมีการประเมินดี ๆ ก่อน ถึงจะค่อยเริ่มรับฮอร์โมน เริ่มการผ่าตัด

เช็กตัวเองก่อนผ่าตัดแปลงเพศ ?

นพ.ธนภพ กล่าวว่า การผ่าตัด รับฮอร์โมน ก็เป็นบริการทางการแพทย์ ฉะนั้นต้องมีสุขภาพกายที่ดี เช่น ไม่เป็นมะเร็ง หรือโรคที่มีการใช้ยาที่ซับซ้อน ทำให้การผ่าตัดเป็นไปไม่ได้ หรือการให้ฮอร์โมนก็ต้องไม่เป็นโรค (มะเร็ง) ที่ตอบสนองต่อฮอร์โมน และหากมีโรคอื่น ๆ เช่น โรคตับ ไขมัน ที่อาจจะมีผลจากการให้ฮอร์โมนทำให้อาการแย่ลง ก็ควรรักษาให้เรียบร้อยก่อน สูบบุหรี่ ดื่มเหล้ามาเยอะ ๆ ก็ควรปรับเปลี่ยนสุขภาพให้เรียบร้อยก่อน ควรหยุดบุหรี่ ลดสุรา ก่อนจะเริ่มใช้ฮอร์โมน และรับการผ่าตัด

การรักษาในวัยรุ่นกับผู้ใหญ่แตกต่างมากแค่ไหน ?

นพ.ธนภพ กล่าวว่า การเข้ามาปรึกษามีความหลากหลายทั้งคู่ เพราะแต่ละช่วงวัยก็มีความเครียดที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นเด็ก ๆ วัยรุ่นก็จะโดนเพื่อนล้อ เข้ากับเพื่อนไม่ได้ ผู้ปกครองไม่ยอมรับ ก็ทำให้เกิดอาการซึมเศร้า วิตกกังวล ความคิดฆ่าตัวตายก็มี

ในวัยทำงานก็ไม่ต่างกัน แทนที่จะโดนเพื่อนล้อ แต่โดนเพื่อนร่วมงานกีดกัน เรื่องการรับสมัครงาน การไม่ได้รับการโปรโมต เลื่อนขั้น หรือทำงานบางอย่างไม่ได้ แต่งเป็นผู้หญิงไปทำงานไม่ได้ ในวัยผู้ใหญ่ก็มีปัญหา ไม่กล้าที่จะยอมรับตัวเอง เพราะว่ามีครอบครัวมีลูกแล้ว

ทุกช่วงวัยมีปัญหาสุขภาพจิตเหมือนกันหมด แต่แตกต่างในรายละเอียด บางช่วงวัยอาจจะมีปัญหาเรื่องของการใช้สารเสพติด พฤติกรรมเสี่ยงเพิ่มเติมเข้ามาด้วย

การใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ หากเป็นหญิงข้ามเพศในเมืองไทย จะเริ่มต้นจากการใช้ยาคุม ไม่แนะนำ เพราะมีฮอร์โมนที่ไม่จำเป็นต่อการข้ามเพศอยู่ และมีฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือดได้ ซึ่งจะเป็นอันตราย บางคนใช้โดยไม่ปรึกษาแพทย์ ใช้ยากินวันละ 3-4 เม็ด ขณะที่การกินยาคุม จะเจาะเลือดดูระดับยาไม่ได้ เพราะฉะนั้นตรวจติดตามไม่ได้ว่ายาเพียงพอหรือไม่ น้อยไปหรือไม่ มากไปหรือไม่

ความยากของการผ่าตัดแปลงเพศ ?

นพ.ธนภพ กล่าวว่า เรื่องการผ่าตัดสร้างอวัยวะเพศใหม่ ยังค่อนข้างน้อยอยู่ อาจเป็นเพราะว่า ราคาค่อนข้างสูง ต้องมีการผ่าตัดหลายครั้ง ไม่ได้ผ่าตัดครั้งเดียวเสร็จ เหมือนการผ่าตัดสร้างช่องคลอดใหม่ เหมือนในหญิงข้ามเพศ รวมถึงผลลัพธ์ที่ออกมาก็อาจจะไม่ดูสวยงามเหมือนอวัยวะเพศชาย ไม่สามารถจะแข็งตัวได้เองในบางกรณี

เพราะฉะนั้นกลุ่มชายข้ามเพศส่วนใหญ่ จะยังไม่ไปถึงการสร้างอวัยวะเพศชายขึ้นมาใหม่ อาจจะจบแค่การตัดหน้าอก แล้วก็สบายใจเพียงพอแค่นั้น

เรื่องของการให้บริการด้านการข้ามเพศ ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้รับบริการเป็นหลัก ว่าต้องการร่างกายแบบไหน ที่ทำให้เขาโอเคกับชีวิต บางคนอยากแค่ใช้ฮอร์โมนแล้วจบ แค่แต่งตัวตามเพศ หรือบางคนขอผ่าตัดแค่บางส่วนเท่านั้น

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"เบี่ยงเบนทางเพศ" สื่อภายนอกไม่สำคัญเท่าจิตใจ

"คลินิกสุขภาพเพศ" บอกได้ ข้ามเพศให้ปลอดภัย ไม่ใช่แค่ฉีดฮอร์โมน

เตือน “ชาย-หญิงข้ามเพศ” อย่าเสี่ยงใช้ฮอร์โมนเอง แนะปรึกษาแพทย์เฉพาะด้าน

ทำความเข้าใจ "กลุ่มคนข้ามเพศ" พบในอดีตอายุสั้น -ป่วยโรคซึมเศร้าสูง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง