ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ศิริราช" เปิดโครงการรถรักษาอัมพาตเฉียบพลันเคลื่อนที่ นำร่อง 6 จังหวัด

สังคม
19 ธ.ค. 64
15:37
426
Logo Thai PBS
"ศิริราช"  เปิดโครงการรถรักษาอัมพาตเฉียบพลันเคลื่อนที่ นำร่อง 6 จังหวัด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มอบของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนด้วยโครงการรถรักษาอัมพาตเฉียบพลันเคลื่อนที่ พร้อมบุคลากรทางการแพทย์ประจำรถและระบบสื่อสารทางไกล Telemedicine นำร่อง 6 ภาคทั่วประเทศเพื่อช่วยผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงการรักษาได้ทันเวลา

วันนี้ (19 ธ.ค.2564) รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ หัวหน้าศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช กล่าวถึงโครงการ Mobile Stroke Unit -Stroke One Stop ( MSU-SOS) ว่า โครงการหน่วยรถแพทย์รักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน หรือ MSU-SOS เป็นโครงการที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราช คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ) มูลนิธิไทยคมและภาคีเครือข่ายร่วมมือกันริเริ่ม เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนอุปกรณ์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากโรคดังกล่าวหากให้การรักษาช้าจะทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่พิการตลอดชีวิตหรือตายได้

 

อีกทั้งในฐานะที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นโรงเรียนแพทย์และเป็นโรงพยาบาลของแผ่นดิน ซึ่งมีหน้าที่สร้างต้นแบบการรักษาโรคให้กับประเทศเพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาในด้านสาธารณสุข ทำให้ได้ตัดสินใจทำโครงการ MSU-SOS ขึ้น โดยโครงการนี้จะเป็นการเข้าไปแก้ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นในการรักษาผู้ป่วยอัมพาตเฉียบพลัน 3 ข้อ ดังนี้

1.ปัญหาการขาดแคลนเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scan) ถึงแม้ว่าเครื่อง CT มีจำนวนมากในประเทศไทย แต่ในพื้นที่ห่างไกลหรือขาดแคลน ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงได้โดยเร็ว เกิดความล่าช้าส่งผลทำให้พิการและถ้ามีอาการรุนแรงจะทำให้สมองบวมและเสียชีวิตได้ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาเราจะติดตั้งเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองบนรถคันนี้ซึ่งพร้อมที่จะให้บริการเมื่อผู้ป่วยมาถึง

 

2.ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ในปัจจุบันเราสามารถนำเทคโนโลยีการปรึกษาทางไกลมาใช้ร่วมกับสัญญาณอินเทอร์เนต 5G ได้บนรถ โดยแพทย์ที่รับปรึกษาจะเห็นภาพผู้ป่วยบนรถและภาพเอ็กซเรย์สมอง รวมทั้งสามารถพูดคุยกับผู้ป่วยได้แบบเรียลไทม์ ไม่ว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะอยู่บริเวณใดของประเทศก็ตาม

3 ปัญหาความล่าช้าในการส่งต่อตัวคนไข้จากโรงพยาบาลต้นทางไปยังโรงพยาบาลปลายทาง ใช้เวลานานมากกว่า 3-5 ชม.ขึ้นไป เพื่อแก้ปัญหานี้จึงได้จัดทำกระบวนการส่งต่อที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้าโดยทีมผู้ปฏิบัติงานบนรถและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเชื่อมต่อไปยังโรงพยาบาลปลายทางซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงเรียนแพทย์ เพื่อส่งต่อคนไข้มาทำการเปิดหลอดเลือดโดยใช้สายสวน โดยจะส่งข้อมูลผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์และคลาวด์

 

รถคันดังกล่าวจะเป็นรถที่มีเครื่องเอ็กซเรย์สมองเคลื่อนที่ เครื่องฉีดสี มียารักษาอัมพาตเฉียบพลันที่จำเป็น มีบุคลากรทางการแพทย์ที่ไปกับรถและมีระบบการสื่อสารทางไกลผ่าน telemedicine เมื่อคนไข้ขึ้นมาบนรถแพทย์ก็จะทำการตรวจร่างกาย สแกนสมองในกรณียังอยู่ในระยะเวลาที่ฉีดยาได้จะทำการฉีดยาสลายลิ่มเลือดเพื่อเปิดหลอดเลือด และต่อมาจะฉีดสีเพื่อดูว่าหลอดเลือดใหญ่เส้นไหนอุดตัน หากพบว่ามีหลอดเลือดใหญ่อุดตันก็รีบส่งตัวคนไข้ไปสู่โรงพยาบาลแห่งที่ 2 ที่ใหญ่กว่าเพื่อที่จะทำการเปิดหลอดเลือดโดยใช้สายสวน

 

รศ.นพ.ยงชัย กล่าวอีกด้วยว่าทั้งหมดนี้จะนำมาสู่การรักษาแบบใหม่ก็คือเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวทำให้ลดความพิการและลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ ในกรณีเป็นพื้นที่ห่างไกลมาก สำนักงานแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจะรับผิดชอบปฏิบัติการส่งตัวผู้ป่วยทางอากาศยานหรือเฮลิคอปเตอร์ ทำให้สามารถลดเวลาและขั้นตอนลงได้มาก ซึ่งโครงการดังกล่าวในปัจจุบันมีการให้บริการคนไข้ไปกว่า 640 คน ซึ่งเริ่มทดสอบระบบปฏิบัติการตั้งแต่เดือน พ.ค.2561 ขณะนี้เรากำลังกระจายการให้บริการไปสู่ 6 จังหวัด เพื่อเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ 6 ภาคทั่วประเทศ ที่เปิดให้บริการแล้วมี 4 แห่ง คือ

จังหวัดแรกที่นำร่อง คือ กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก ของแม่น้ำเจ้าพระยา และ จ.นนทบุรี ปฏิบัติการโดยโรงพยาบาลศิริราช

แห่งที่ 2 คือ จ.ชลบุรี ภายใต้การปฎิบัติการของมหาวิทยาลัยบูรพาและโรงพยาบาลชลบุรี

แห่งที่ 3 คือ โมเดลภาคตะวันตก จ.ราชบุรี และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จ.ราชบุรี

แห่งที่ 4 คือ โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี

แห่งที่ 5 ที่ตั้งใจจะเปิดบริการ คือ จ.เชียงราย ภายใต้การปฎิบัติการของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของจังหวัดเชียงราย ร่วมกับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โดยจะเริ่มให้บริการในวันที่ 14 ก.พ.2565

แห่งที่ 6  จะปฏิบัติการภายในเดือน มิ.ย.2565 คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม ภายใต้ปฎิบัติการร่วมกับโรงพยาบาลนครพนม โดยทุกพื้นที่ดังกล่าวศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราชเป็นผู้จัดอบรมทีม จัดตั้งระบบบริการ รวมทั้งร่วมปฏิบัติการให้คำปรึกษาทางไกล

“การที่เราสร้างต้นแบบไปกระจายทั้งหมด 6 ภาคใน 6 พื้นที่เพราะเราต้องการทำให้เห็นว่าในทุกส่วนที่อยู่ห่างไกลสามารถปฏิบัติการเช่นนี้ได้และสามารถยกระดับการดูแลโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันซึ่งจะนำไปสู่การลดการพิการและความตายของผู้ป่วยได้
เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่2565 เรารู้สึกยินดีในความสำเร็จของทีมและภาคีเครือข่ายทุกหน่วยงานในการมีส่วนร่วมของการพัฒนาต้นแบบการรักษาอัมพาตเฉียบพลันแบบใหม่ที่ศิริราชภูมิใจมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน” รศ.นพ.ยงชัยกล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง