ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กล้องโทรทรรศน์อวกาศ IXPE ภารกิจสังเกตรังสีเอกซ์โพลาไรซ์จากหลุมดำ

Logo Thai PBS
กล้องโทรทรรศน์อวกาศ IXPE ภารกิจสังเกตรังสีเอกซ์โพลาไรซ์จากหลุมดำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นาซา ส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ IXPE ขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ เพื่อทำภารกิจสังเกตรังสีเอกซ์โพลาไรซ์จากหลุมดำ มีวงโคจรในระดับความสูงประมาณ 539 กิโลเมตร

องค์การบริหารการบินและอวกาศนาซา (NASA) ประสบความสำเร็จในการส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ IXPE หรือ Imaging X-ray Polarimetry Explorer ขึ้นสู่อวกาศเพื่อทำภารกิจสังเกตการณ์รังสีเอกซ์โพลาไรซ์จากหลุมดำ โดยใช้จรวด Falcon 9 ของบริษัท SpaceX เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านจากฐานปล่อยจรวดบริเวณแหลมคะแนเวอรัล รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ IXPE มีวงโคจรในระดับความสูงประมาณ 539 กิโลเมตร

โครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศ IXPE เปิดตัวในช่วงปี ค.ศ. 2017 มูลค่าโครงการมากกว่า 7,000 ล้านบาท โครงการเกิดจากความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารการบินและอวกาศนาซา (NASA) กับองค์การอวกาศอิตาลี (ASI) นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรอื่น ๆ เช่น มหาวิทยาลัยแมคกิลล์ ประเทศแคนาดา สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยโคโลราโด บริษัท Ball Aerospace & Technologies ประเทศสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยแห่งกรุงโรมและบริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศ OHB-Italia ประเทศอิตาลี

โครงสร้างของตัวกล้องโทรทรรศน์อวกาศ IXPE แยกออกเป็น 2 ส่วน โดยด้านหน้าติดตั้งกล้องทั้งหมด 3 ตัวเข้าด้วยกันเพื่อวัดค่ารังสีเอกซ์โพลาไรซ์ที่ต้องการความละเอียดสูง การเชื่อมต่อด้วยโครงสร้างขั้นกลางระหว่างส่วนด้านหลังที่ติดตั้งระบบสื่อสาร ระบบขับเคลื่อนและแผงโซลาร์เซลล์ 5 แผง ภารกิจหลักของตัวกล้องเพื่อศึกษาสังเกตการณ์รังสีเอกซ์โพลาไรซ์จากหลุมดำที่อยู่ห่างจากโลกมากกว่า 89 ล้านปีแสง รวมไปถึงดาวนิวตรอน, พัลซาร์, เศษซากซูเปอร์โนวา, แมกนีทาร์, เควซาร์ และปรากฏการณ์อื่นในจักรวาลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรังสีเอกซ์โพลาไรซ์

เมื่อกล้องโทรทรรศน์อวกาศ IXPE เดินทางไปยังวงโคจรที่ถูกระบุเอาไว้จะเริ่มทำภารกิจร่วมกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Chandra Space Telescope ที่อยู่ในวงโคจรระดับสูงกว่า เป้าหมายแรกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ IXPE คือ การสำรวจ Crab nebula ซึ่งเกิดจากการระเบิดของดาวที่ตายแล้ว (Dead Star) ก่อนหน้านี้มีการสังเกต Crab nebula มาระยะหนึ่งแล้วแต่ยังไม่มีการสำรวจในระดับที่มีความละเอียดสูงในแบบที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศ IXPE สามารถทำได้และอาจนำไปสู่การค้นพบใหม่ ๆ ด้านวิทยาศาสตร์

ที่มาข้อมูลและภาพ: New Atlas, NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง