ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชงศบค.เลิกรับนักท่องเที่ยว Test&Go พบติด "โอมิครอน" 63 คน

สังคม
20 ธ.ค. 64
10:26
2,960
Logo Thai PBS
ชงศบค.เลิกรับนักท่องเที่ยว Test&Go พบติด "โอมิครอน" 63 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"อนุทิน" เตรียมชง ศบค.ชุดใหญ่ยกเลิกรับนักท่องเที่ยว Test&Go หลังพบการติดเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนในไทยมีรายงานยืนยัน 63 คน โดยจะกลับมาใช้ระบบ State Quarantine หมอธีระ เตือนเลี่ยงปาร์ตี้ปีใหม่-คริสต์มาส ชี้แนวโน้มโอมิครอนระบาดเร็ว

วันนี้ (20 ธ.ค.2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข เตรียมให้เสนอศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) และคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่ ยกเลิกการเดินทางเข้าประเทศแบบ Test&Go ไปก่อน โดยคงเหลือเฉพาะรูปแบบ Sandbox และ

ทั้งนี้จะกลับมาใช้ State Quarantine หรือการกักกันผู้เดินทาง ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาภายในประเทศ โดยเบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขจะเสนอศบค.ยกเลิกการเดินทางประเทศแบบ Test & Go 

ขณะนี้ในไทยมีการรายงานพบการระบาดเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนยืนยัน 63 คน อยู่ในการดูแลควบคุมป้องกันโรค และยังรอยืนยันอีก 20 คน ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่ามีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนใน 89 ประเทศ

ทั้งนี้ เวลา 11.00 น. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะแถลงข่าวสถานการณ์การติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน และจะมีการรวบรวมทุกสัปดาห์ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน 

"หมอธีระ"ห่วงปาร์ตี้ปีใหม่

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ว่า เมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.) ทั่วโลกติดเพิ่ม 419,457 คน ตายเพิ่ม 3,379 คน รวมแล้วติดไปรวม 274,944,819 คน เสียชีวิตรวม 5,369,821 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อเมริกา รัสเซีย และอิตาลี จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 93.08 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 97.01

ล่าสุด จำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 67.09 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 63.15

จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก

ล่าสุดไอร์แลนด์เป็นประเทศที่โอมิครอน เป็นสายพันธุ์ที่ครองสัดส่วนมากกว่าสายพันธุ์อื่นแล้ว
เรื่องการประเมินความรุนแรงของโรคจากการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน Hanage WP และทีมงาน จาก Harvard University ได้เผยแพร่ผลงานวิชาการออกมาเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2564 ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า การที่รีบด่วนแปลผลจากการดูข้อมูลช่วงแรกที่มีการติดเชื้อเยอะ แต่ป่วยและตายน้อยจากในแอฟริกาใต้นั้น อาจทำให้ประเมินความรุนแรงของสายพันธุ์โอมิครอน ต่ำกว่าที่เป็นจริง และอาจคลาดเคลื่อนได้

 

เนื่องจากมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อปรากฏการณ์ที่เห็น เช่น อัตราการมีผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนในอดีต อัตราการฉีดวัคซีนในแต่ละพื้นที่ ศักยภาพของโอมิครอน ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำในคนที่เคยเป็นโควิดมาก่อนได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น รวมถึงระยะเวลาที่เหลื่อมกันของการติดเชื้อ การป่วย และการเสียชีวิตในแต่ละกลุ่มผู้ป่วยที่มีลักษณะพื้นฐานข้างต้นที่แตกต่างกัน 

ที่แน่ๆ ตอนนี้ข้อมูลจากการวิจัยชี้ให้เห็นชัดว่าโอมิครอนแพร่เร็ว, ติดเชื้อแล้วแบ่งตัวในหลอดลมได้เร็วกว่าเดลต้า 70 เท่า ความเสี่ยงในการแพร่ในครัวเรือนมากกว่าเดลต้า 2.9 เท่า ติดเชื้อซ้ำได้มากขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิม 2.4 เท่า

ทั้งนี้ มีการศึกษาในสหราชอาณาจักรโดย Imperial College พบว่าความเสี่ยงมากกว่านี้ ดื้อต่อภูมิคุ้มกันกว่าสายพันธุ์เดิม 20-40 เท่าดื้อต่อโมโนโคลนัล แอนติบอดี้หลายชนิดที่ใช้ในการรักษา
ดังนั้นหากไม่ป้องกันตัวให้เคร่งครัด โอกาสเกิดระบาดหนักในแต่ละประเทศย่อมมีสูง จำนวนการติดเชื้อที่มากขึ้นอย่างมาก จะทำให้จำนวนการป่วยและตายก็อาจอยู่ในระดับที่สูงได้ ไม่ว่าสุดท้ายแล้วความรุนแรงจะลดลงบ้างจากปัจจัยเชิงประชากรที่มีระดับภูมิคุ้มกันเดิมอยู่แล้วหรือไม่ก็ตาม

ขอให้เราป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด เป็นกิจวัตร ใส่หน้ากากสองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า เว้นระยะห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร เลี่ยงการตะลอนท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี เลี่ยงการจัดปาร์ตี้สังสรรค์คริสต์มาส และปีใหม่ ฉลองกับคนในบ้านจะปลอดภัยกว่า

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"อนุทิน" เผยนายกฯ สั่งเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 - ไม่หวั่นคำพูดดรามา

ดรามา "โควิดกระจอก" ของ "อนุทิน" สวนทางข้อกังวลชาวโลก

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง