วันนี้ (21 ธ.ค.2564) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีสถานีรถไฟหัวลำโพงว่า หลังจากการหารือกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จึงเสนอให้เดินรถแบบเดิมไปก่อน โดยมีรถเชิงพาณิชย์ 40 ขบวน และรถเชิงสังคม 40 ขบวน ที่จะยังไม่ใช้โครงสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง เพื่อให้ประชาชนใช้บริการรถไฟช่วงปีใหม่ไปก่อน ในระหว่างที่ยังหาคำตอบไม่ได้
นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า สำหรับการเช็กลิสต์กำหนดแนวทางการให้บริการเปลี่ยนถ่ายไปยังสถานีกลางบางซื่อ รฟท.จะดำเนินการร่วมกับหลายหน่วยงานทั้งกระทรวงคมนาคม, กรมการขนส่งทางราง, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. และนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่าง โดยจะเช็กลิสต์ 4 ประเด็น คือ
1.ประเด็นเรื่องการปรับเปลี่ยนรถไฟทางไกลไปใช้สถานีกลางบางซื่อ มีผลกระทบแก่ผู้ใช้บริการ และแก้ปัญหาอย่างไร
2.ประเด็นที่เกี่ยวกับรถเชิงพาณิชย์ที่ควรมาใช้สถานีกลางบางซื่อ เพราะในอนาคตจะเป็นจุดเชื่อมต่อไป โครงการสำคัญอื่น เช่น โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน, ไฮสปีด ไทย-จีน รถไฟชานเมืองสายสีแดง
3.ประเด็นรถเชิงสังคม 40 ขบวน ควรเหลือกี่ขบวน ปรับเวลาเดินรถ มีระบบอื่นมาแทนอย่างไร หากหยุดเดินรถเหล่านี้ไป
4.การเร่งประชาสัมพันธ์ ให้เกิดความเข้าใจ เพราะขณะนี้วิธีประชาสัมพันธ์ มีประเด็นที่ความซับซ้อนมากขึ้น หลายมิติจะต้องสร้างความรับรู้ให้ทั่วถึง
เบื้องต้น จะทำเช็กลิสต์ให้เสร็จใน 30 วัน หรือภายในเดือน ม.ค.2565 ก่อนจัดทำ “แอคชั่น แพลน” ให้มีความชัดเจน คำนึงประโยชน์ และฟังเสียงประชาชน เปิดช่องทางการรับรู้ให้กว้างขวาง โดยจะใช้เวลาจัดทำ “แอคชั่น แพลน” นานแค่ไหน จะขอดูรายละเอียด ข้อมูลการเช็กลิสต์อีกครั้ง
ส่วนการเดินรถไฟ ในวันที่ 23 ธ.ค.นี้จะยังเป็นไปตามปกติ คือ มีจะยังมีรถเชิงสังคม 40 ขบวน เชิงพาณิชย์ 40 ขบวน รวมวันละ 80 ขบวน และมีขบวนรถท่องเที่ยวเกินรถเสาร์-อาทิตย์ อีก 6 ขบวน ซึ่งเป็นจำนวนขบวนรถที่เดินในช่วงสถานการณ์ COVID-19
ยกเลิกคำสั่งหยุดให้บริการบางสถานี
ทั้งนี้ ผู้ว่า รฟท. ยืนยันอีกครั้งว่า แนวทางการปรับลดขบวนรถเข้าหัวลำโพง เมื่อมีการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีตั้งแต่โครงการสายสีแดง ผ่านการพิจารณา ครม. ในปี 2549 ซึ่งขณะนั้นต้องการให้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางคมนาคมระบบราง จึงจำเป็นต้องมีการปรับให้ขบวนรถทางไกลมาสิ้นสุดที่บางซื่อแทน
นอกจาก การเป็นศูนย์กลางเดินรถของบางซื่อแล้ว ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนการบริหารจัดการสถานี หากมีการเดินรถเข้าสถานีศูนย์กลางพร้อมกันถึง 2 แห่งก็จะทำให้ต้นทุนบริหารจัดการสถานีสูงอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งก็มีความสำคัญต่อ รฟท. โดยปัจจุบันนี้การรถไฟมีต้นทุนการบริหารจัดการพื้นที่สถานีกลางบางซื่อเดือนละ 40 ล้านบาท และมีต้นทุนในการบริหารจัดการพื้นที่สถานีหัวลำโพงเดือนละอีกกว่า 10 ล้านบาท
สำหรับประชาชนที่ซื้อตั๋วโดยสารล่วงหน้าปลายทางสถานีบางซื่อ สามารถใช้ตั๋วจนถึงหัวลำโพงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนกรณีที่มีการออกคำสั่งหยุดการให้บริการสถานีบางเขน หลักสี่ ป้ายหยุดรถ กม.11 ทุ่งสองห้อง การเคหะฯ กม.19 ได้มีคำสั่งยกเลิกแล้ว
รฟท.โต้กระแสเอื้อนายทุน
ทั้งนี้ นายนิรุฒ ยังกล่าวถึงประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า การที่มีการเร่งรัดขบวนรถเข้าหัวลำโพง เป็นการทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนหรือ “เจ้าสัว” ซึ่งเรื่องนี้ยืนยันว่าไม่มีมูลความจริงและการพูดในลักษณะดังกล่าวทำให้การรถไฟเสียหาย ส่วนจะมีการดำเนินคดีฟ้องร้องกับผู้ที่ยังไม่หยุดใส่ร้ายเรื่องดังกล่าวหรือไม่นั้น จะพิจารณาในข้อกฏหมายต่อไป
ส่วนแนวทางการพัฒนาพื้นที่ หัวลำโพงในอนาคตนั้น ผู้ว่า รฟท. ระบุว่า ทิศทางจะเป็นอย่างไรนั้น ในอนาคตจะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง รวมทั้งจะรอให้การศึกษาทำเช็กลิสต์ เกี่ยวกับการเดินรถเสร็จสิ้นก่อน เพื่อนำข้อมูลมาประมวลรวมกันอีกครั้ง