วันนี้ (30 ธ.ค.2564) นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงกรณีภาวะซึมเศร้าในช่วงปีใหม่ หรือ New Year's Blues ว่า ในช่วงปีใหม่ ในสายตาของคนทั่วไป อาจจะมองว่ามีแต่ความสุข สนุก และรอยยิ้ม แต่มีภัยเงียบหนึ่งด้านสุขภาพจิต คือภาวะซึมเศร้าในช่วงปีใหม่ หลายคนอาจจะเคยได้ยิน และหลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน
ทั้งนี้ ในช่วงปีใหม่ ปกติแล้วหลายคนจะเป็นช่วงสุดท้ายของการทำงานของแต่ละปี และเริ่มกลับไปอยู่กับครอบครัว แต่ในช่วงที่เรามีโอกาสมีเวลาว่างได้ทบทวนชีวิตตัวเองในช่วงปีที่ผ่านมานั้น ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ค่อนข้างยากลำบากสำหรับประชาชนหลายคน ประสบอุปสรรคทั้งปัญหาจากโควิด-19 ปัญหาเรื่องส่วนตัว บางคนประสบปัญหาเรื่องการทำงาน ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ เมื่อเรามาทบทวนพิจารณาตัวเองในช่วงปลายปี หลายคนรู้สึกแย่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
หลายคนรู้สึกผิดหวังกับช่วงต้นปีที่ได้ตั้งเป้าหมายบางอย่างไว้ แล้วไม่สามารถทำได้อย่างสำเร็จในช่วงปลายปี หลายคนมีครอบครัว ในช่วงปัญหาโควิด-19 ทำให้มีการทะเลาะเบาะแว้ง มีการไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งความไม่เข้าใจนั้นก็สะสมมาถึงปลายปี ทำให้หลายคนที่ประเมินตัวเองปลายปีนั้น เริ่มรู้สึกว่าในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นปีที่สถานการณ์สำหรับตัวเองและครอบครัวเป็นปีที่ไม่ค่อยดีนัก ก็เกิดภาวะที่เรียกว่าซึมเศร้าขึ้นมาได้
อย่าเปรียบเทียบคนอื่น
เริ่มจากการทำงานก่อน หลายคนจากเดิมที่ได้ทำงานอาจจะไม่มีงานทำเช่นเดิมในช่วงปีที่ผ่านมา หรือมีงานลดน้อยลง หรือถูกลดเงินเดือนไป เพื่อนร่วมงานหายไป ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมากๆ ว่าทำให้อารมณ์ของคนที่อยู่ในช่วงปลายปี แทนที่จะมีความสุข กลับรู้สึกกังวลไปจนถึงปีหน้าว่าช่วงปีหน้าจะมีงานทำหรือไม่ หรือมีงานที่เปลี่ยนไปหรือไม่
ขณะเดียวกัน เรื่องครอบครัวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หลายคนสามารถมีครอบครัว และไปอยู่กับครอบครัวได้ แต่หลายคนไม่เป็นเช่นนั้น ในสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายคนไม่กล้ากลับไปพบเจอผู้ใหญ่ในบ้าน ปู่ย่าตายาย เนื่องจากอาจจะยังไม่ได้รับวัคซีนครบ บางคนก็ได้รับวัคซีนครบแล้ว แต่กังวลเรื่องโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่จะนำเชื้อไปติดญาติผู้ใหญ่ จึงทำให้ไม่ได้มีโอกาสกลับไปเจอคนรัก และคนใกล้ชิด และต้องอยู่คนเดียวในช่วงปีใหม่
สำหรับ 2 สถานการณ์นี้ ทั้งการทำงานและเรื่องปัญหาเกี่ยวกับครอบครัว และความสัมพันธ์ ส่งผลได้ถึงปัญหาเรื่องสุขภาพและอารมณ์ของตัวเอง ทำให้เกิดปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งในช่วงปีใหม่อาจจะเกิดความเสี่ยงในเรื่องโรคซึมเศร้ามากขึ้น ขณะเดียวกัน นอกจากจะประเมินตัวเองแล้ว รู้สึกไม่พอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ในช่วงหยุดยาวนี้
โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น การอ่านโซเชียลมีเดีย การดูสื่อออนไลน์ต่างๆ รวมถึงการดูสื่อบางอย่างที่เล่าเกี่ยวกับสถานการณ์ที่โหดร้ายในช่วงปีที่ผ่านมามากๆ การเห็นเช่นนั้นอาจจะทำให้รู้สึกไม่ดีเกิดขึ้นได้มาก
โดยเฉพาะการเปรียบเทียบ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าในโซเชียลมีเดีย ทุกคนโพสต์แต่ด้านดี ภาพความสวยงาม ความสำเร็จในแต่ละปี แต่พอมามองตัวเองกลับพบว่ามีจุดที่ไม่ประสบความสำเร็จหลายอย่าง หรือว่ามีอุปสรรคหลายอย่างในชีวิต เลยเผลอเทียบกับคนอื่น ทั้งที่จริงแล้ว คนอื่นอาจจะไม่ได้แสดงด้านที่ตัวเองมีปัญหา ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าที่มากขึ้น
จากสถิติข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตคนไทย ตั้งแต่วันที่ 1-30 พ.ย.2564 จากจำนวนผู้ตอบแบบประเมิน 68,855 คน พบว่ามีความเครียดสูง 5,789 คน หรือร้อยละ 8.41 เสี่ยงซึมเศร้า 7,302 คน หรือร้อยละ 10.60 เสี่ยงฆ่าตัวตาย 4,042 คน หรือร้อยละ 5.87 และภาวะหมดไฟ 977 คน หรือร้อยละ 6.97
ขณะที่ข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 1-30 ธ.ค.2564 จากจำนวนผู้ตอบแบบประเมิน 41,156 คน พบว่ามีความเครียดสูง 2,158 คน หรือร้อยละ 5.24 เสี่ยงซึมเศร้า 2,765 คน หรือร้อยละ 6.72 เสี่ยงฆ่าตัวตาย 1,640 คน หรือร้อยละ 3.98 และภาวะหมดไฟ 425 คน หรือร้อยละ 4.24
ทั้งนี้ พบว่าในเดือน พ.ย. จากการสำรวจพบว่าคนมีความเครียดสูง แต่ลดลงในเดือน ธ.ค. เนื่องจากเข้าสู่ภาวะเฉลิมฉลอง แต่ในช่วงวันที่ 30 ธ.ค. - 3 ม.ค. อาจจะพบว่ามีความเสี่ยงซึมเศร้าเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากอัตราเสี่ยงฆ่าตัวตายมากที่สุด อยู่ในช่วงสงกรานต์ และรองลงมา คือช่วงปีใหม่ กรมสุขภาพจิตจึงออกมาสื่อสารให้ประชาชนตระหนักว่าอาจจะความเสี่ยงเรื่องภาวะความเครียดและซึมเศร้า
อาการซึมเศร้าช่วงปีใหม่
สำหรับภาวะซึมเศร้าช่วงปีใหม่ คือการซึมเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ รู้สึกไร้ค่า รู้สึกสิ้นหวัง ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง มีปัญหาเรื่องการกินหรือการนอน ในบางคนอาจมีความคิดไม่อยากอยู่หรืออยากทำร้ายตัวเอง ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้อาจจะเกิดต่อเนื่องไปยังช่วงต้นเดือน ม.ค. แม้สิ้นสุดวันหยุดยาวไปแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ ควรสังเกตตนเองและคนใกล้ชิด ดังนี้ คือหมั่นสำรวจอารมณ์ของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงปีใหม่ พยายามพูดคุยกับตัวเอง สื่อสารกับตัวเอง ดูว่าตัวเองมีอารมณ์เป็นอย่างไรในปีที่ผ่านมา และปีนี้เป็นอย่างไร สื่อสารคนรอบข้างและดูอารมณ์คนรอบข้างว่าเป็นอย่างไร หรือสามารถใช้ระบบตัวช่วยที่ www.วัดใจ.com ให้ลองประเมินตัวเอง 4 ด้าน คือความเสี่ยงเรื่องความเครียด โรคซึมเศร้า ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย และภาวะหมดไฟ ประเมินเพื่อให้รู้จักปีนี้ สิ้นปีนี้เป็นอย่างไร
นพ.วรตม์ กล่าวว่า ลำดับถัดมา คือการพยายามมองความสำเร็จของตนเอง บางครั้งถ้ามองภาพรวมไม่ตั้งใจ จะเห็นว่าปีที่ผ่านมามีความเหนื่อยยาก ลำบาก มีปัญหาต่างๆ แต่ถ้าทุกคนลองเพ่งให้ดีจะเห็นว่าในช่วงปีที่ผ่านมา มีความสำเร็จเกิดขึ้นหลายอย่างในระหว่างปี เช่น เมื่อพบอุปสรรค เราสามารถใช้พลังใจ เพื่อต่อสู้อุปสรรคนั้นไปได้ สามารถเอาตัวเองผ่านประสบการณ์เลวร้ายไปได้ และไม่ยอมแพ้ต่อการแก้ปัญหาต่างๆ มองให้เห็นว่าปีที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง และทำอะไรได้ดีบ้าง
นอกจากนี้ ในช่วงปีใหม่ พยายามให้เวลากับตัวเอง หลายคนกังวลใจเรื่องงงาน เอางานมาทำ ตั้งเป้าหมายเรื่องการทำงานมาก อยากจะสะสางงานให้เสร็จในช่วงปีใหม่ ซึ่งเป็นการทำให้ตัวเองไม่มีเวลาพักผ่อนเพียงพอ ซึ่งในช่วงปีใหม่ควรให้เวลาตัวเองได้พักผ่อนทางกายและจิตใจ การฟื้นฟูสำคัญมากๆ พอกับการทำงาน ถ้าฟื้นฟูได้ดี การทำงานปีหน้าก็จะเป็นไปด้วยความราบรื่น
แนะใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ
ลำดับถัดไป ใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ ใช้เวลากับตัวเองและคนรอบข้าง พยายามสื่อสารสร้างความรู้สึกเชิงบวกให้กับตัวเอง ขณะเดียวกัน คนรอบข้าง พ่อแม่พี่น้องลูกหลานของเรา พยายามสร้างความรู้สึกเชิงบวก ใช้เวลาที่มีคุณภาพร่วมกัน อย่านั่งรวมกันเฉยๆ แยกย้ายกันเล่นโทรศัพท์มือถือ แต่ควรใช้เวลาพูดคุยซึ่งกันและกัน ประเมินครอบครัวในปีที่ผ่านมา และปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม หลายคนไม่ได้มีครอบครัว หรืออยู่เป็นโสดคนเดียว สามารถใช้โอกาสนี้เป็นโอกาสที่ดีในการพูดคุยกับคนอื่น ในช่วงวันหยุดยาว หากรู้สึกเหงา สามารถใช้โซเชียลมีเดียพูดคุยกับคนอื่นได้ คุยต่อเนื่องระยะยาว ใช้ช่องทางออนไลน์ต่างๆ ในการเชื่อมความสัมพันธ์หลายคนในปีที่ผ่านมาที่ไม่ค่อยได้คุยด้วย อาจจะทักทาย ให้กำลังใจ หรืออวยพรปีใหม่ ขอพรจากเขา เพื่อเป็นการเชื่อมต่อกับคนอื่น อย่าให้ตัวเองอยู่เหงาคนเดียวในช่วงปีใหม่
รองสุดท้าย คือการตั้งเป้าหมาย ซึ่งการตั้งเป้าหมายที่ดี หลายคนมีการตั้งเป้าหมายปลายปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก ประเมินตัวเองในปีที่ผ่านมา และตั้งเป้าหมายในปีถัดไป แต่การตั้งเป้าหมายนั้นควรเป็นเป้าหมายไม่สูงจนเกินไป ไม่สูงจนกระทั่งทำไม่ได้ หลายบอกว่าอยากจะลดน้ำหนักด 20 กิโลกรัม ซึ่งอาจจะมากเกินไป แต่ค่อยๆ ตั้งเป้าหมายที่พอเป็นไปได้ ตั้งเป้าหมายให้เหมาะสม ไม่รู้สึกท้อแท้
ตั้งเป้าหมายสมจริง-เป็นไปได้
ทั้งนี้ หากตั้งเป้าหมายมากเกินไป อาจจะท้อแท้ และทำไปไม่ถึง ถ้าตั้งเป้าหมายได้อย่างสมจริง มีความเป็นไปได้ เช่น แทนที่จะตั้งเป้าหมายลดน้ำหนักเยอะๆ 10-20 กิโลกรัม อาจจะตั้งเป้าหมายไม่กินขนมจุกจิก ในระหว่างทำงานอาจจะกินผลไม้ให้มากขึ้น การตั้งเป้าหมายต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ตัวเองสามารถทำได้ และจะมีความสุขมากขึ้นกับเป้าหมายที่ตัวเองวางไว้
โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สุดท้าย การปรึกษาพูดคุยกับคนอื่นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะคนใกล้ชิด คนสนิท ถ้ามีครอบครัวให้ปรึกษา ลองพูดคุยกับเขา ได้ระบายอารมณ์ความรู้สึกทั้งด้านลบและบวก เพื่อให้แต่ละคนได้แชร์ความรู้สึกซึ่งกันและกัน เพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในช่วงปีใหม่นี้ ภาวะซึมเศร้าช่วงปีใหม่ ก็จะหายไป
ทั้งนี้ สามารถโทรมาปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 ซึ่งจะให้บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง หรือบางคนอาจจะไม่อยากใช้โทร ก็สามารถใช้ไลน์แอปพลิเคชั่น @1323FORTHAI สามารถปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญได้เช่นเดียวกัน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ไม่ได้สึกหนีหนี้! "สมปอง" เผยถ้าไม่มีใช้ ยังมีเจ้าสัวรอช่วย
เปิดไทม์ไลน์ 2 ผู้ติดเชื้อโอมิครอน จ.บึงกาฬ
อย่าลืม! พรุ่งนี้วันสุดท้าย "คนละครึ่งเฟส 3" ใช้ไม่หมดคืนหลวง
แอสตร้าเซนเนก้า ส่งมอบวัคซีนให้ไทย ครบ 61 ล้านโดสแล้ว
ตำรวจ ปคบ. เตรียมเรียก "พิมรี่พาย" ตรวจสอบกรณีกล่องสุ่มรัก 1