ความสำเร็จในการส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) ขึ้นสู่อวกาศขององค์การนาซาเป็นเครื่องยืนยันถึงความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ ดาราศาสตร์เชิงสังเกตการณ์ (Observational astronomy) ที่ใช้ "กล้องโทรทรรศน์อวกาศ" เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน จากอดีตถึงปัจจุบันองค์การนาซาและหน่วยงานด้านอวกาศประเทศอื่น ๆ ได้ส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศขึ้นสู่อวกาศหลายโครงการ การจัดแบ่งประเภทของกล้องโทรทรรศน์อวกาศสามารถจัดแบ่งออกเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศตามประเภทช่วงความถี่ของรังสี เช่น รังสีแกมมา, รังสีเอกซเรย์, รังสีอัลตราไวโอเลต, แสงปกติที่มนุษย์มองเห็น, รังสีอินฟราเรด, รังสีไมโครเวฟ, คลื่นวิทยุและการตรวจจับอนุภาค
กล้องโทรทรรศน์อวกาศในวงโคจร (Orbiting Astronomical Observatory)
กล้องโทรทรรศน์อวกาศที่สามารถสังเกตการณ์และถ่ายภาพความคมชัดสูงช่วงคลื่นรังสีอัลตราไวโอเลตตัวแรกของโลกพัฒนาโดยองค์การนาซาช่วงปี 1966-1972 กล้องโทรทรรศน์อวกาศชุดนี้แบ่งออกเป็น 4 ภารกิจ OAO-1 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 1966 ภารกิจนี้ไม่ประสบความสำเร็จนาซายกเลิกภารกิจหลังจากขึ้นไปบนอวกาศได้ประมาณ 3 วัน ภารกิจ OAO-2 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 1968 ประกอบด้วยชุดกล้องขนาดเล็ก 11 ตัว ภารกิจนี้ทำให้นาซาค้นพบร่องรอยของดาวหางเป็นแก๊สไฮโดรเจน การสังเกตการณ์โนวา (Nova) การระเบิดอย่างรุนแรงของดาวแคระขาว ภารกิจ OAO-2 ในปี 1970 ภารกิจนี้ล้มเหลวจรวดขนส่งอวกาศเกิดขึ้นผิดพลาดและตกลงสู่ชั้นบรรยากาศโลก ภารกิจ OAO-3 (Copernicus) ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 1972 สามารถถ่ายภาพความคมชัดสูงของดาวฤกษ์ การสังเกตการณ์พัลซาร์ (Pulsar)
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเอกซเรย์ (XMM-Newton)
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเอกซเรย์ (XMM-Newton) หรือ High Throughput X-ray Spectroscopy Mission เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศประเภทรังสีเอกซเรย์พัฒนาโดยองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 1999 ภารกิจหลักของตัวกล้อง คือ การสังเกตการณ์การก่อตัวของดาว สภาพแวดล้อมของหลุมดำมวลยิ่งยวด (Supermassive black hole , SMBH) การศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสสารมืดในอวกาศ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเอกซเรย์ (XMM-Newton) จะปฏิบัติภารกิจไปจนถึงปี 2022 หรืออาจยืดอายุการใช้งานไปมากกว่านั้น
กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope)
หนึ่งในกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ถูกใช้งานและมีประสิทธิภาพสูงสุดมากที่สุดตัวหนึ่งของโลกก่อนการเปิดใช้งานกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) ในช่วงปี 2022 กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลพัฒนาโดยนาซาและองค์การอวกาศยุโรป กล้องถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในช่วงปี 1990 ติดตั้งกล้องแบบรังสีอินฟราเรดและสเปกโตรมิเตอร์หลายวัตถุ กล้องถ่ายคลื่นที่ตามองเห็นมุมกว้าง แม้จะต้องใช้การซ่อมบำรุงรักษาหลายครั้งนับจากปี 1993-2008 แต่ตัวกล้องก็สามารถถ่ายภาพสำคัญ ๆ ทางด้านอวกาศส่งกลับมายังโลกจำนวนมาก เช่น ภาพถ่ายเสาแห่งการก่อกำเนิด (Pillars of Creation) ครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ได้มองเห็นเนบิวลาเปล่งแสงในรูปแบบความคมชัดสูง นอกจากนี้ยังมีภาพถ่ายทางอวกาศสำคัญอีกหลายภาพถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนและถูกใช้งานเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจด้านอวกาศตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา
กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope)
กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ผลงานการพัฒนาโดยองค์การนาซาเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศประเภทรังสีอินฟราเรดถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2003 ตัวกล้องใช้กระจกที่ผลิตจากวัสดุเบริลเลียม (Beryllium) แบบเดียวกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) แต่มีขนาดเพียง 85 เซนติเมตร มีขีดความสามารถของตัวกล้องสามารถถ่ายภาพที่อยู่ห่างจากโลก 12 ล้านปีแสง แม้จุดที่ต้องการถ่ายภาพโดนเนบิวลาบดบังอยู่ก็ตาม รวมไปถึงการถ่ายภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech