ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตลาดราชบุรี สามชั้นราคา กก.ละ 240 บาท คาดตรุษจีนขยับขึ้นอีก

เศรษฐกิจ
5 ม.ค. 65
11:03
570
Logo Thai PBS
ตลาดราชบุรี สามชั้นราคา กก.ละ 240 บาท คาดตรุษจีนขยับขึ้นอีก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สำรวจเขียงหมู ในตลาดสดเทศบาลเมืองบ้านโป่ง ราชบุรี สามชั้นราคาพุ่ง กิโลกรัมละ 240 บาท คาดตรุษจีนขยับขึ้นอีก

วันนี้ (5 ม.ค.2565) เขียงหมู ในตลาดสดเทศบาลเมืองบ้านโป่ง พบว่า ปัจจุบันราคาจำหน่ายเนื้อหมูสด สามชั้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 240 บาท เนื้อหมูสันนอก 220 บาท เนื้อสะโพกบด 200 บาท และเนื้อสันคอ 220 บาท ราคาที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของลูกค้า ทั้งกลุ่มร้านอาหาร และลูกค้ารายย่อย ที่ลดปริมาณการซื้อลง หันไปซื้อเนื้อสัตว์ประเภทอื่นแทน

คาดว่าราคาเนื้อหมูจะขยับตัวขึ้นเช่นนี้ไปจนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงผู้บริโภคเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แม้แต่เขียงหมูเองหลายราย ก็ได้ทยอยปิดกิจการไปแล้ว เพราะทนแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหว

เกษตรกรปล่อยทิ้งคอกหมู พิษโรคระบาดหมู

ด้าน น.ส.สุภาวดี จุมพลเดชาพันธ์ ชาว ต.ดอนกระเบื้อง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ทิ้งเล้าหมูที่เคยเลี้ยงไว้ขาย เนื่องจากหมูตายยกฟาร์ม เพราะโรคระบาด ทำให้ขาดทุนกว่าแสนบาท

 

น.ส.สุภาวดี เปิดเผยว่า ครอบครัวของตนมีอาชีพเลี้ยงหมูมากว่า 30 ปี เป็นฟาร์มหมูขนาดเล็ก มีหมูรวมกว่า 100 ตัว เป็นแม่พันธุ์ 15 ตัว ที่ผ่านมาสร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัวเดือนละประมาณ 20,000-30,000 บาท

กระทั่งเมื่อช่วงเดือน ต.ค.2564 แม่หมูในฟาร์มเริ่มป่วย ซึม ไม่กินอาหาร ตอนแรกคิดว่าเกิดจากสภาพอากาศ จึงซื้อยามาฉีดรักษาตามอาการ ต่อมามีจุดแดงทั่วทั้งตัว ก่อนที่แม่หมูจะแท้งลูกและตาย

ซึ่งอาการทั้งหมดใช้เวลาเพียง 2 วันเท่านั้น และหมูตัวอื่นๆ ก็เริ่มมีอาการตามมา วันละตัว 2 ตัว บางวันก็เป็น 10 ตัว ต้องหมดค่ายารักษาไปเป็นเงินหลักหมื่นบาท แต่ก็ไม่สามารถรักษาหมูในฟาร์มไว้ได้แม้แต่ตัวเดียว

 

ตลอดระยะเวลา 15 วัน ในทุกเช้า ตนจะต้องตื่นขึ้นมาพร้อมกับความสูญเสีย ยืนดูซากหมูที่ตายคาคอก นำไปขุดหลุมฝังกลบจนแทบจะไม่เหลือที่ฝัง หมูที่ยังไม่เป็นโรค ก็จำต้องรีบปล่อยขายในราคาถูก เพราะกลัวว่าจะตายคาคอกอีก

จนมาทราบว่า ก่อนหน้านี้ฟาร์มหมูทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็กในพื้นที่ มีหมูตายแบบเดียวกันจำนวนมาก จึงคาดว่าเกิดจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู ซึ่งอาจจะติดต่อมาจากคนงานจับหมู หรือ จากนกต่างๆ ที่จะบินไปกินอาหารในฟาร์มหมูข้างเคียงที่มีโรคระบาด แล้วนำมาแพร่เชื้อในฟาร์ม ทำให้ขาดทุนไปประมาณ 100,000 บาท

 

น.ส.สุภาวดี กล่าวว่า ตนต้องออกไปทำงานรับจ้างบรรจุขนม ได้ค่าจ้างเดือนละประมาณ 6,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว ทำให้ต้องกินอยู่อย่างประหยัด รวมไปถึงนำเงินเก็บส่วนที่เหลือ มาลงทุนเลี้ยงไก่ไข่ เป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งแทน ในส่วนของฟาร์มหมู คงต้องหยุดพักไปก่อน เนื่องจากไม่มีทุนเหลืออีกแล้ว ประกอบกับต้องทำให้พื้นที่ปลอดเชื้อ

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง