ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไขปริศนา! "หมูแพงข้ามปี" ส่อแววเจอ "โรคระบาดในหมู"

เศรษฐกิจ
5 ม.ค. 65
16:58
9,189
Logo Thai PBS
ไขปริศนา! "หมูแพงข้ามปี" ส่อแววเจอ "โรคระบาดในหมู"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้จักโรคระบาดในหมู ต้นตอหมูแพงข้ามปี ราคาสามชั้นพุ่ง 240 บาทต่อกิโลกรัม พบเพื่อนบ้าน ทั้งฟิลิปปินส์ จีน และเวียดนาม เกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) จนผลผลิตลดร้อยละ 5-19% ส่วนของไทยยืนยันไม่พบการระบาดของโรคนี้

ปัญหาราคาเนื้อหมูขยับราคาพุ่งข้ามปี ตัวเลขล่าสุดหมูสามชั้นราคา 240 บาทต่อกิโลกรัม บรรดาร้านอาหารตามสั่ง บางแห่งติดป้ายขึ้นราคาจานละ 5 บาท ส่วนร้านที่ขายผลิตภัณฑ์จากหมู เช่น แคปหมู ขหมูย่างชื่อดัง ที่ต้องใช้หมูเป็นวัตถุดิบ พากันปรับราคาอีกเท่าตัว

ไทยพีบีเอสออนไลน์ ตรวจสอบข้อมูลจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุว่า ปี 2559-2563 การผลิตเนื้อสุกรของประเทศต่างๆ ลดลงในอัตราร้อยละ 3.46 ต่อปี ในปี 2563 การผลิตเนื้อสุกรของโลกมีปริมาณ 97.88 ล้านตัน ลดลงจากปี 2562 ซึ่งมีปริมาณ 101.98 ล้านตัน ร้อยละ 4.02 

เนื่องจากเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) ในหลายประเทศ ทำให้ผลผลิตหมูเกิดความเสียหายในวงกว้าง โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์ จีน และเวียดนาม ซึ่งมีปริมาณการผลิตลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 19.56 ร้อยละ 10.69 และร้อยละ 5.88

นอกจากนี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยังระบุอีกว่าปี 2559-2563 การผลิตหมูของไทยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 1.88 ต่อปี แต้่ในปี 2563 มีปริมาณการผลิตหมู 20.45 ล้านตัว ลดลงจาก 20.48 ล้านตัว ของปี 2562 ร้อยละ 0.15

 

เนื่องจากเกษตรกรชะลอการเลี้ยงสุกร เป็นผลมาจากการระบาดของโรค ASF ในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม และกัมพูชา โดยแม้ว่าไทยจะไม่มีการระบาดของโรคดังกล่าว แต่เกษตรกรต้องการลดความเสี่ยงจึงชะลอการเลี้ยงสุกร ทำให้ปริมาณการผลิตสุกรในภาพรวมลดลง

สอดคล้องกับ ข้อมูลอีกทางหนึ่ง ที่เป็นการให้ข้อมูลจากฝ่ายการเมือง คือนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ชี้ว่า สาเหตุที่หมูแพง ก็เพราะโรคระบาดในหมู แต่ไม่ใช่ 3 โรคที่อธิบดีกรมปศุสัตว์ให้ข้อมูลมา

โรคระบาดในหมู ที่รัฐบาลไม่ยอมรับตลอด 3 ปี คือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่ระบาดทั่วโลก รวมทั้งไทยด้วย ซึ่งโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน จึงเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ต้องใช้ยารักษา หรือทำลายหมูเพื่อตัดวงจร

นายวิสุทธิ์ บอกว่า สถานการณ์การระบาด ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระจายไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และราชบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่เลี้ยงหมูมากที่สุดในประเทศ ทำให้จำนวนหมูหายไปจากระบบ 10 ล้านตัว จากช่วงก่อนการระบาดมีสุกร 22 ล้านตัว

ปัจจุบันเหลือ 12 ล้านตัว ส่วนแม่พันธุ์สุกรจากเดิมมี 1.2 ล้านตัว ปัจจุบันลดลงเหลือ 500,000 ตัว ส่งผลต่อราคาหมู และกระทบต่อผู้เลี้ยงอย่างหนัก

ปลายปี 64 อ้างไทยปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร 

ก่อนหน้านี้ข้อมูลที่นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ บอกเมื่อช่วงปลายปีคือ โรคระบาดในสุกรช่วงปี 2561 -2564 ประเทศไทยมีการระบาดของโรคที่สำคัญในสุกร ได้แก่ โรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS) เป็นโรคหรือกลุ่มอาการในระบบสืบพันธุ์ และระบบทางเดินหายใจในสุกร พบ 707 ครั้ง โรคอหิวาต์สุกร หรือ Classical Swine Fever (CSF) พบ 24 ครั้ง โรคปากและเท้าเปื่อย พบ 11 ครั้ง

สอดคล้องกับข้อมูลเว็บไซต์รัฐบาลไทย อ้างถึงคำให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.64 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกถึงความสำเร็จในการจัดการโรคระบาดในสัตว์ของไทยที่สามารถควบคุมและป้องกันการเกิดโรคได้สำเร็จ ด้วยมาตรการการป้องกันอย่างเคร่งครัดและความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งโรคกาฬโรคแอฟริกาม้า (AHS) และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยไทยเป็นประเทศหนึ่งเดียวในอาเซียนที่ยังคงสถานะปลอดโรค ASF ไว้ได้

สำหรับโรคลัมปี สกิน สามารถจำกัดพื้นที่การแพร่ระบาดและลดความเสียหายจากโรคได้แล้ว โดยไทยได้เร่งวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค ASF ในสุกรต้นแบบ และโรคลัมปี สกิน เพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรไทย และประเทศเพื่อนบ้าน 

โรค ASF หมูติดป่วยตายไว

สำหรับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ข้อมูลแผนเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร AFRICAN SWINE FEVER ของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร ระบุว่าโรคนี้ ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนในการใช้ป้องกันโรค หมูที่ติดเชื้อจะมีอัตราการตายสูง และเชื้อมีความคงทนในสิ่งแวดล้อม

ส่วนอาการของโรค ตายเฉียบพลัน มีไข้สูง  ผิวหนังแดง จุดเลือดออก รอยช้ำ โดยเฉพาะใบหู ท้อง ขาหลัง  มีอาการทางระบบหายใจ ทางเดินอาหาร  มีอาการแท้งในทุกช่วงของการตั้งท้อง

อาการของโรค ASF พบทุกกลุ่ม และทุกช่วงอายุ อัตราการป่วย 100% อัตราการตาย 30-100%  ในลูกหมู อัตราการตายสูง 80-100% ภายใน 14 วัน

ทั้งนี้ การติดโรคมาจากสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของหมูป่วย การหายใจเอาเชื้อเข้าไปการกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน การโดยเห็บที่มีเชื้อกัด ส่วนหมูป่า สามารถเป็นพาหะได้ รวมถึงเสื้อผ้า อุปกรณ์ที่ปนเปื้อนเชื้อ สามารถแพร่กระจายไวรัสได้

 ไทยก็เคยตรวจพบผลิตภัณฑ์ปนเปื้อนเชื้อ ASF

โดยวันที่ 26 ส.ค.2561 เคยมีรายงานตรวจพบเชื้อ ASF ในผลิตภัณฑ์หมูที่ สนามบินอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ โดยกระทรวงเกษตรประเทศเกาหลี ตรวจพบเชื้อ ASFV ปนเปื้อนในกุนเชียง และเกี๊ยวหมูที่ผู้โดยสารนำเข้ามาจากมณฑลเหลียงหนิง จากการตรวจพบครั้งนี้ ทำให้เกาหลีใต้เข้มงวดมาตรการสนามบิน รวมทั้งสุนัขดมกลิ่น และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้โดยสารให้งดนำข้าผลิตภัณฑ์จากประเทศที่มีการระบาดของ ASF

ส่วนของไทย เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2561 ด่านกักกันสัตว์ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต จ.ภูเก็ต ได้ตรวจยึดซาลามี่ และไส้กรอกจากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมา จากเมืองเฉิงตู ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดได้ในพบว่ามีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร และปัจจุบันไทยตรวจยึดผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนสารพันธุกรรมเชื้อ ASF จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด 3 ครั้ง จำนวน 9 ตัวอย่าง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตลาดราชบุรี สามชั้นราคา กก.ละ 240 บาท คาดตรุษจีนขยับขึ้นอีก

 กกร.ถกคุมเคลื่อนย้าย-ห้ามส่งออกหมู 6 เดือน แก้ปมหมูแพง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง