วันนี้ (5 ม.ค.2565) นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวถึงสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วง 7 วันอันตรายในเทศกาลปีใหม่ (29 ธ.ค.64 – 4 ม.ค.65) ว่า ปีนี้มีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุลดลงอยู่ที่ 333 คน ขณะที่ปี 2564 อยู่ที่ 392 คน ลดลงมา 59 คน หรือประมาณร้อยละ 15 ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ว่าต้องลดไม่น้อยกว่าร้อยละ 5
ปีนี้การเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นแบบทยอยเดินทาง ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตในวันแรกและวันสุดท้ายของการรณรงค์ มีจำนวนไม่มาก เพราะหลายคนเดินทางตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.เป็นต้นไป แต่จำนวนผู้เสียชีวิตมาเพิ่มขึ้นในวันฉลองเทศกาลปีใหม่ ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. (45 คน) วันที่ 31 ธ.ค. (72 คน) และวันที่ 1 ม.ค. (76 คน)
คนกลับบ้านเร็ว ก็ฉลองปีใหม่เร็วและยาวนานขึ้น เริ่มตั้งวงฉลองตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.
เทศกาลปีใหม่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ส่งผลให้หลายครอบครัวเลือกฉลองปีใหม่ในกลุ่มเครือญาติและภายในชุมชน โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะหลักเพราะระยะทางไม่ไกล
สอดคล้องกับข้อมูลสถิติของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2565 พบว่าปีนี้รถจักรยานยนต์ เป็นรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ขณะที่ถนนใน อบต.หรือหมูบ้าน เป็นอันดับที่ 2 ของประเภทถนนที่เกิดอุบัติเหตุ และลักษณะการชน พบว่า มากกว่าครึ่งไม่มีคู่กรณี เพราะเสียหลักพลิกคว่ำหรือล้มเองแทบทั้งสิ้น
ปีนี้การตายจากรถจักรยานยนต์ มากกว่าการตายในช่วงปกติ ช่วงนอกเทศกาลในการตาย 100 คน ตายจากรถจักรยานยนต์ 74 คน แต่ในเทศกาล ตายจากรถจักรยานยนต์ 82 คน
ขณะเดียวกันพบว่า สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุปีนี้ เปลี่ยนจากดื่มแล้วขับ เป็น "ขับรถเร็วเกินกำหนด"
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสาธารณสุขยังพบว่า ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ร้อยละ 85 ไม่สวมหมวกนิรภัย โดยเฉพาะในช่วงวันฉลองปีใหม่ วันที่ 30 ธ.ค. - 1 ม.ค. ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจะสวมหมวกน้อยลงมาก
ยิ่งดื่ม ยิ่งไม่สวมหมวก
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เราสามารถจัดการมาตรการทางกายภาพได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถจัดการเรื่องพฤติกรรมของประชาชนได้ ไม่ว่าจะเป็นการไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ขับรถเร็ว และเมาแล้วขับ
แตกต่างกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ภาครัฐมีมาตรการให้ทุกคนปรับพฤติกรรมส่วนบุคคลให้สวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง และล้างมือบ่อย ๆ ซึ่งทุกคนให้ความร่วมมือและสามารถปฏิบัติได้
ขณะเดียวกัน เห็นว่าเราควรถอดบทเรียนโควิด-19 มาใช้กับการจัดการอุบัติเหตุทางถนน อย่างเช่น การวิเคราะห์เคสโควิด-19 เมื่อพบว่าเกิดการระบาดในจุดใหญ่ จะมีการสอบสวนและหาผู้รับผิดชอบ ส่งผลให้สังคมเกิดการตั้งคำถามกลับทันที ว่าทำไมสถานบันเทิงนั้น ตลาดนั้น ถึงมีการระบาดของโควิดได้
สื่อเวลารายงานเรื่องอุบัติเหตุจะรายงานว่าเขาเมา ไม่สวมหมวก ไม่มีการวิเคราะห์เคสให้โยงไปถึงคนรับผิดชอบ ต้องโยงให้สังคมหาคนรับผิดชอบให้ได้
นพ.ธนะพงศ์ ยกอย่างเคสขับรถตามจีพีเอสแล้วตกคลอง ซึ่งสังคมมองว่าเป็นความประมาทของคนขับ แต่ถ้ามองอีกมุม บริเวณริมน้ำไม่ควรเปิดจุดแบริเออร์ หรือเปิดช่องว่างไว้เช่นนั้น
เคสอุบัติเหตุเราไม่สามารถโยงให้สังคมเข้าใจ เพื่อให้สังคมถามหาความรับผิดชอบได้ จนกดดันให้หน่วยงานปิดจุดเหล่านั้น
ทั้งนี้ นพ.ธนะพงศ์ เสนอว่าต้องทำให้คนไทยเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองเรื่องอุบัติเหตุไม่ใช่แค่ปัจเจก แต่ให้มองเป็นประเด็นสาธารณะมากขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สรุป 7 วันอันตราย เสียชีวิต 333 คน กรุงเทพฯ มากที่สุด