วันนี้ (12 ม.ค.2565) ไวพจน์ เพชรสุพรรณ หรือ พาน สกุลณี ครูเพลงลูกทุ่ง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) เมื่อปี 2540 ถึงแก่กรรมอย่างสงบ ด้วยวัย 79 ปี หลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย.2564
โดยลูกสาวของ "ไวพจน์ เพชรสุพรรณ" ศิลปินแห่งชาติชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว แจ้งข่าวว่า
"พ่อหลับสบายแล้ว ลูกวาสนาน้อยไม่ได้ลาพ่อด้วยตัวเอง ได้แต่ลาผ่านหน้าจอ เราจะคิดถึงกันนะพ่อ"
สำหรับสาเหตุการจากไปในครั้งนี้ ลูกสาว เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ติดเชื้อในกระแสเลือด หลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตากสิน ส่วนความคืบหน้าเรื่องพิธีสวดพระอภิธรรมจะแจ้งให้ทราบต่อไป
สำหรับ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เกิดเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2485 เป็นบุตรนายจำปี และนางอ่ำ สกุลณี เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดวังน้ำเย็น อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
เข้าสู่อาชีพนักร้อง โดยเริ่มหัดร้องเพลงอีแซว เพลงพื้นบ้านของ จ.สุพรรณบุรี ตั้งแต่อายุ 2 ขวบ โดยได้ฝึกหัดและหัดตามมารดา ซึ่งเป็นแม่เพลงอีแซว จนสามารถร้องเพลงอีแซว และเพลงแหล่ได้ เมื่ออายุ 14 ปี จากนั้นได้หัดร้องลิเกกับคณะลิเกประทีป แสงกระจ่าง
เมื่ออายุ 16 ปี ได้เข้าประกวดร้องเพลงครั้งแรกที่วัดท่าตลาด ต.วัดโบสถ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เพลงที่ร้องเป็นเพลงแหล่ของ พร ภิรมย์ ชื่อเพลง "จันทโครพ" ปรากฏว่าได้รางวัลที่ 1
ในช่วงนั้น ไวพจน์ สนใจขับร้องเพลงลูกทุ่งมาก เพราะเป็นช่วงที่มีนักร้องลูกทุ่งมีชื่อเสียงเกิดขึ้นมากมาย เช่น ชัยชนะ บุญนะโชติ, ไพรวัลย์ ลูกเพชร , ชาย เมืองสิงห์ ครั้งหนึ่งชัยชนะ บุญนะโชติ ได้นำวงดนตรีมาเล่นที่ตลาดสวนแตงและมีการรับสมัครประกวดร้องเพลง
ไวพจน์ จึงสมัครประกวดร้องเพลงด้วย และได้รับการชมเชยจากผู้ชมผู้ฟังเป็นจำนวนมาก ชัยชนะ บุญนะโชติ จึงชักชวนให้เข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งและตั้งชื่อให้ใหม่ว่า " ไวพจน์ เพชรสุพรรณ "
หลังจากนั้นได้นำ ไวพจน์ ไปฝากเป็นศิษย์ของครูสำเนียง ม่วงทอง นักแต่งเพลงซึ่งเป็นชาว จ.สุพรรณบุรี เช่นกัน ซึ่งเป็นเจ้าของวงดนตรี “รวมดาวกระจาย”
ไวพจน์ จึงได้เข้ามาร่วมวงในฐานะนักร้องนำ ครูสำเนียงได้แต่งเพลงให้ร้อง และประสบความสำเร็จอย่างมาก คือ เพลง "ให้พี่บวชเสียก่อน" และยังได้ขับร้องเพลงของนักแต่งเพลงผู้อื่น คือ จิ๋ว พิจิตร เช่น เพลง ”แบ่งสมบัติ” และ “21 มิถุนา ขอลาบวช” เป็นต้น
ไวพจน์ เป็นผู้มีความสามารถรอบตัว เพราะนอกจากจะร้องเพลงลูกทุ่งได้ยอดเยี่ยมแล้ว ยังมีความสามารถเล่นเพลงพื้นบ้านได้เกือบทุกชนิดทั้งเพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ เล่นได้หมดและเล่นได้ดีขนาดโต้ตอบด้วยปฏิภาณกวีได้ โดยเฉพาะการแหล่ ทุกคนในวงการล้วนยกย่องให้ไวพจน์เป็น "ราชาเพลงแหล่" เพราะมีเพลงแหล่บันทึกแผ่นเสียงมากที่สุดในประเทศไทย ทั้งยังสามารถแหล่ด้นกลอนสดได้อย่างไม่ติดขัด
ในจำนวนนักร้องลูกทุ่งอาวุโส ไวพจน์ มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงมากที่สุดถึงประมาณ 2,000 เพลง และยังคงผลิตผลงานออกมาเพิ่มเติมในระดับที่ถี่กว่าคนอื่น ทั้งเพลงที่ครูเพลงแต่งให้และแต่งเองร้องเอง
ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ยังสามารถแต่งเพลงสร้างชื่อให้ลูกศิษย์มาแล้วมากมาย โดยศิษย์เอกที่โด่งดังของไวพจน์มี ขวัญจิต ศรีประจันต์, เพชร โพธาราม (เพลง ต.ช.ด.ขอร้อง) และพุ่มพวง ดวงจันทร์ (เพลงแก้วรอพี่, นักร้องบ้านนอก) นอกจากนั้น ก็ยังเป็นหมอทำขวัญ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหมอทำขวัญ อันดับ 1 ของเมืองไทยในปัจจุบัน
ไวพจน์ ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ในปี พ.ศ.2540
อ่านข่าวเพิ่มเติม
วิกฤตหมู! ผู้ผลิตรายใหญ่ ได้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่ม นาน 6 เดือน
ไม่เเจ้ง จนท.ระบายหมูขาย ต้นเหตุเชื้อกระจาย
แต่งงานออนไลน์! เจ้าบ่าวติดโควิด-เจ้าสาวกักตัว ก่อนพิธี 1 วัน
ระดมเจ้าหน้าที่ล่าพรานฆ่าเสือโคร่งป่าทองผาภูมิ
อิตาลีจับบุรุษพยาบาล "แกล้งฉีดวัคซีน-ให้ใบรับรองปลอม" แลกเงิน