เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 ม.ค.2565 ประเทศไทยจะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมเข้าประเทศจากนักท่องเที่ยว คนละ 300 บาท ซึ่งเงินที่เรียกเก็บดังกล่าว เรียกว่า "ค่าเหยียบแผ่นดิน"
สำหรับเงินที่ได้ จะนำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในไทย และทำประกันให้แก่นักท่องเที่ยว เช่น กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต ก็จะได้รับวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท หรือค่ารักษาพยาบาล ได้รับสูงสุด 500,000 บาท เป็นต้น
เบื้องต้น วางแผนเก็บรวมกับค่าตั๋วเครื่องบิน กรณีเดินทางทางอากาศ และอยู่ระหว่างการพิจารณาวิธีการเรียกเก็บจากการเดินทางทางบก
การจัดเก็บเงินส่วนดังกล่าว เพื่อเดินหน้าจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสีขาว ให้สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคการท่องเที่ยว ที่จะช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและปลอดภัยมากขึ้น
โฆษกประจำสำนักนายกฯ ยังระบุว่า ปี 2565 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดว่าไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ราวๆ 1.3-1.8 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีชาวต่างชาติมาเที่ยวไทย 5-15 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 800,000 ล้านบาท
กรณีศึกษา "ญี่ปุ่น-สวิตเซอร์แลนด์" เก็บภาษีนักท่องเที่ยว
การจัดเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่มีการนำมาตรการนี้มาใช้ แต่ในหลายประเทศก็จัดเก็บเช่นกัน เช่น ญี่ปุ่น มีการเก็บภาษีนักท่องเที่ยวต่างชาติ "ซาโยนาระแท็กซ์" โดยจัดเก็บ 1,000 เยนต่อคน หรือประมาณ 300 บาท ก่อนเดินทางออกจากประเทศ ซึ่งภาษีในส่วนนี้จะถูกเก็บรวมไว้ในราคาตั๋วเครื่องบินที่จองแล้ว
รัฐบาลญี่ปุ่น ระบุว่า จะนำรายได้ส่วนนี้ไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น อัปเกรดเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพขณะที่นักท่องเที่ยวผ่านขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง อย่างการนำประตูอัตโนมัติและระบบจดจำใบหน้ามาใช้ ส่งผลให้เข้าเมืองได้เร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้น
ส่วนในบางประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ มีการเก็บภาษีเมือง หรือ City Tax โดยจะให้อำนาจแต่ละเมืองในการจัดเก็บจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ บางครั้งอาจต้องจ่ายที่โรงแรมเมื่อเช็กอิน ซึ่งการจัดเก็บในส่วนนี้จะระบุไว้ขณะจองโรงแรมออนไลน์ โดยจะมีข้อความที่แจ้งว่า ราคาห้องพักยังไม่รวมค่าธรรมเนียมที่ท้องถิ่นเรียกเก็บ