วันนี้ (18 ม.ค.2565) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ ติดตามเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และอุทยานแห่งชาติลำคลองงู จ.กาญจนบุรี ที่สนธิกำลัง 30 นาย เข้าพื้นที่ทางเรือไปยังหมู่บ้านปิล็อกคี่ โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อติดประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ
เนื่องจากชาวบ้าน 5 คน ในคดีล่าเสือโคร่ง มีบ้านพักอาศัยในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ซึ่งเป็นพื้นที่ผ่อนปรนให้อยู่อาศัยตามมติครม.30 มิ.ย.2541 และมีเงื่อนไขห้ามกระทำผิด เช่น บุกรุกป่า ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการล่าสัตว์ป่า ถือเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขต้องออกจากพื้นที่ ภายใน 30 วัน
การเข้าปฎิบัติภารกิจดังกล่าว มีนายกมลาศ อิสสอาด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม พร้อมด้วยนายศรันย์วุฒิ พรสรายุทธ อุทยานแห่งชาติลำตลองงู และประสาท แดงเถิน ผญบ.หมู่บ้านปิล็อกคี่ ทำความเข้าใจและชี้แจงถึงภารกิจกับตัวแทนชาวบ้านประมาณ 10 คน มาร่วมพูดคุยกรณีการเข้ามาติดป้ายประกาศครั้งนี้
ยันไม่รังแกชาวบ้านเหตุทำผิดเงื่อนไข
นายกมลาศกล่าวว่า เป็นครั้งแรกในเขาแหลมที่ใช้ข้อหาขับไล่ชาวบ้านที่ได้รับการผ่อนปรนให้อยู่ตามมติ ครม.ดังกล่าว เพราะถือทำผิดเงื่อนไขล่าสัตว์ โดยทั้งหมดยังสามารถใช้กระบวนการทางกฎหมายขออุทธรณ์ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ 30 วัน แต่หากครบกำหนดหรือยังไม่การอุทธรณ์ ถึงจะแจ้งดำเนินคดีเพิ่มเติม
ผมไม่เคยคิดรังแกประชาชน ผมจะอยู่ตรงกลาง เพราะป่าอยู่ได้ประชาชนอยู่ได้ถึงจะประสบความสำเร็จดูแลป่า
เร่งสำรวจบัญชีเลี้ยงวัว-ควายไม่ให้ขยายเข้าพื้นที่อนุรักษ์
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังเตรียมเข้ามาสำรวจการเลี้ยงวัวและเลี้ยงควายของชาวบ้านปิล๊อกคี่ทั้งหมด เพื่อตรวจสอบว่า แต่ละครัวเรือนมีการเลี้ยงไว้มากน้อยแค่ไหน
ซึ่งจากรายงานผู้ใหญ่บ้านระบุว่า มีประมาณ 1,000 ตัวเลี้ยง บางครอบครัวเลี้ยง 2-3 ตัว เพราะในฤดูน้ำท่วมหลากชาวบ้านอาจจะเข้าไปเลี้ยงในพื้นที่โซนอนุรักษ์ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการนำโรคสัตว์เข้าไปในพื้นที่อุทยานที่มีสัตว์ป่าหายาก โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
รวมทั้งยังได้รับรายงานว่า ช่วง 2-3 วัน หลังจากเกิดคดีล่าเสือโคร่ง ในป่าทองผาภูมิ ผู้ใหญบ้านปิล็อกคี่ แจ้งว่า มีเสือโคร่งมากินควายของชาวบ้าน ตอนนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล
ผู้ใหญ่บ้านได้ยืนยันและนำหลักฐาน ควายที่ถูกกัดไปให้กับทางอำเภอทองผาภูมิทราบเรื่องแล้ว
ชาวบ้านบางส่วนกังวลจัดระเบียบเลี้ยงสัตว์
ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนระบุว่า ค่อนข้างกังวลใจกรณีชาวบ้านถูกสั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่อุทยานฯ เนื่องจากมีครอบครัว ลูกเล็ก ผู้สูงอายุที่จะได้รับผลกระทบ รวมทั้งการจะมีการจัดระเบียบการเลี้ยงสัตว์ในเขตอุทยานฯ อยากให้เข้ามาทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และเข้ามาส่งเสริมเรื่องปศุสัตว์ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรในพื้นที่ เพราะที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาในพื้นที่เลย
จากการสำรวจสภาพหมู่บ้านปิล็อกคี่ บ้านเรือนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในละแวกใกล้กันบางหลังเป็นลักษณะไม้ใต้ถุนสูง และบางหลังมีสังกะสีมีการใช้ไฟจากโซล่าเซลล์ ส่วนใหญ่มีเด็กและผู้สูงอายุอาศัยอยู่ ซึ่งผู้ชายจะส่วนจะออกไปเลี้ยงวัวและเลี้ยงควายในพื้นที่ริมน้ำและทำเกษตร