วันนี้ (21 ม.ค.2565) กรมการแพทย์ เปิดเผยผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพจากโรคโควิด-19 หรือภาวะ Long COVID เป็นอาการที่เกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่องภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ 3 เดือน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ และมีอาการอยู่นานอย่างน้อย 2 เดือน สามารถเกิดได้ในทุกระบบของร่างกาย ตั้งแต่ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท และระบบภูมิคุ้มกัน
สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ สำรวจผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 ระหว่างวันที่ 12 ก.ย. - 7 ต.ค.2564 โดยมีผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิดตอบแบบสำรวจ 1,300 คน อายุเฉลี่ย 35.51 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง
ผลการสำรวจพบอาการ Long COVID ใน 7 อันดับแรก ได้แก่ อาการเหนื่อย อ่อนเพลีย รองลงมาคือหายใจลำบาก หอบเหนื่อย นอนไม่หลับ ไอ ปวดศีรษะ ผมร่วง และปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการของ Long COVID เฉลี่ยมากกว่า 7 อาการขึ้นไป
อาการ Long COVID จากการสำรวจได้
ระบบทางเดินหายใจ (44.38%)
- หอบเหนื่อย
- ไอเรื้อรัง
ระบบทางจิตใจ (32.1%)
- นอนไม่หลับ
- วิตกกังวล
- ซึมเศร้า
ระบบประสาท (27.33%)
- อ่อนแรงเฉพาะที่เฉียบพลัน
- ปวดศีรษะ
- มึนศีรษะ
- หลงลืม
- กล้ามเนื้อลีบ
ระบบทั่วไป (23.41%)
- อ่อนเพลีย
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ปวดตามข้อ
ระบบหัวใจและหลอดเลือด (22.86%)
- เจ็บหน้าอก
- ใจสั่น
ระบบผิวหนัง (22.8%)
- ผมร่วง
- ผื่นแพ้
นอกจากนี้มีการเปรียบเทียบอาการที่เกิดขึ้นในช่วง 4-12 และ 12 สัปดาห์ขึ้นไป นับจากวันที่ได้รับการวินิจฉัย พบว่า อาการหายใจลำบาก ผมร่วง และวิตกกังวล มีแนวโน้มสูงขึ้นภายหลัง 12 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังพบว่าคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพทั่วไปของผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด ร้อยละ 72.09 ลดลงจากก่อนป่วย
อย่างไรก็ตาม อาการผิดปกติดังกล่าวส่วนใหญ่หายได้เอง หากมีผู้ป่วยมีอาการต่อเนื่องนาน 2 เดือน ควรพบแพทย์ที่ดรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลที่เคยรักษาโควิด-19
อ่านข่าวอื่นๆ
"โอมิครอน" กระจายทั่วไทย กรุงเทพฯ พบมากสุด 4,178 คน
หมอธีระระบุวิจัย "Long COVID" พบปัญหา "ด้านความจำ-เหนื่อยล้า"