วันนี้ (28 ม.ค.2565) กรณีมีข่าวในโซเชียลอ้างพบคราบน้ำมันเกิดขึ้นในพื้นที่ ต.บ้านกรูด อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาประจวบคีรีขันธ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบคราบดังกล่าว พบเป็นเพียงการเกิดแพลงก์ตอนบลูม ทำให้น้ำทะเลมีสีเขียวมีกลิ่นคาวคล้ายพืชทะเลเน่าเหม็นไม่ใช่คราบน้ำมันที่รั่วไหลจากเหตุการณ์เรืออับปาง จ.ชุมพร
จากการตรวจสอบพื้นที่ชายหาดหลายๆพื้นที่ โดยรอบพบการเกิดแพลงก์ตอนบลูมในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน กรมเจ้าท่า ได้ทำการประสาน ศรชล.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และมีการไปตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าเป็นเพียงแพลงก์ตอนบลูม ไม่มีคราบน้ำมันปนเปื้อนแต่อย่างใด
ภาพ:กรมเจ้าท่า
สำหรับแพลงก์ตอนบลูม เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปี โดยในระยะ 3-5 ปี ที่ผ่านสามารถพบเห็นได้ประจำปีละประมาณ 2-3 ครั้ง ในปี 2562 ที่ผ่านมาบริเวณชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี ก็เคยเจอแพลงก์ตอนบลูม ส่งผลให้น้ำทะเลเปลี่ยนสีถึง 4 ครั้ง คือ ช่วงเดือนก.พ.,มี.ค., ก.ค.และส.ค.
สาเหตุสำคัญมาจากการปล่อยน้ำเสียจากชุมชนลงสู่ทะเลจ นทำให้แพลงก์ตอนได้รับสารอาหารและเกิดการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และเมื่อออกซิเจนในน้ำทะเลหมดลง แพลงก์ตอนจะตายจนทำให้น้ำทะเลกลายสีเขียว หรืออาจเป็นช่วงที่เปลี่ยนฤดูจึงเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้น
ภาพ:กรมเจ้าท่า
ทั้งนี้ น้ำทะเลที่เปลี่ยนเป็นสีเขียวหรือแพลงก์ตอนบลูมไม่เป็นอันตรายต่อผู้ที่ลงเล่นน้ำทะเล เพียงแต่อาจทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้าลงเล่นน้ำ เนื่องจากบางจุดจะมีกลิ่นเหม็นคาวรุนแรง และหวั่นว่าจะเกิดผลกระทบต่อผิวหนัง หากบางคนผิวแพ้ง่ายอาจทำให้มีผื่นคันได้ อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ ดังกล่าวคาดว่าหากมีลมทะเลพัดแรงเพียง 4-7 วัน ก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
นอกจากนี้ทางจากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ลงพื้นที่ชายหาดบ้านกรูด เก็บตัวอย่างน้ำทะเลไปวิเคราะห์ เพื่อสร้างความมั่นใจ และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดจากการลงเล่นน้ำของผู้ที่มาพักผ่อนที่ชายหาดบ้านกรูดด้วย