วันนี้ (28 ม.ค.2565) นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า กรณีที่มีข่าวเผยแพร่ว่าพบชายโดนตะขาบกัด แล้วนำคางคกมารักษา โดยการถูบริเวณแผลนั้น มีความเสี่ยงต่อการเกิดผิวหนังติดเชื้อมากขึ้นได้อีกด้วย
โดยทั่วไป พิษของตะขาบจะมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาท และจะมีอาการทางผิวหนังที่พบได้บ่อยหลังโดนตะขาบกัด คือ อาการปวด บวม แดง หรือมีเหงื่อออกเฉพาะที่ นอกจากนี้อาจพบมีเลือดออกในบริเวณที่ถูกกัดได้ และโดยมากผู้ที่ถูกตะขาบกัดมักเกิดอาการชา ซึ่งเป็นผลมาจากพิษของตะขาบ หากไม่ได้รับการดูแลแผลที่ดี อาจลุกลามเกิดเป็นแผลลึกหรือมีการติดเชื้อตามมาได้
อย่างไรก็ตาม บางกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนัก การถูกตะขาบกัดอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงต่อระบบอื่นๆ ในร่างกายได้ เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด ภาวะกล้ามเนื้อสลาย หรือไตวาย
ขณะที่ พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาเบื้องต้นหลังถูกตะขาบกัด ควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดก่อน จากนั้นให้ปฏิบัติ ดังนี้ 1.ประคบด้วยน้ำแข็ง หรือแช่บริเวณที่ถูกกัดในน้ำอุ่นเพื่อลดอาการปวด 2.ใช้ยาแก้ปวดชนิดรับประทาน หรือสเปรย์ลดอาการปวด 3.รับประทานยาแก้แพ้กลุ่ม antihistamines 4.ผู้ที่ถูกตะขาบกัดควรได้รับการฉีดวัคซีนบาดทะยัก และ 5.รับประทานยาฆ่าเชื้อหากพบว่ามีการติดเชื้อที่ผิวหนังร่วมด้วย
ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง ยังให้ความเห็นว่าการใช้วิธีนำคางคก หรือสิ่งอื่นใดมาถูหรือพอกบริเวณที่ถูกกัดนั้น จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนังได้มากขึ้น หากมีความผิดปกติหรืออาการแพ้รุนแรงเกิดขึ้นหลังถูกตะขาบกัด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที