ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปรับมาตรฐานฟาร์มหมู เริ่มเลี้ยงรอบใหม่หลังเกิดโรคระบาด

ภูมิภาค
29 ม.ค. 65
19:24
994
Logo Thai PBS
ปรับมาตรฐานฟาร์มหมู เริ่มเลี้ยงรอบใหม่หลังเกิดโรคระบาด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้จะมีความกังวลเรื่องโรคระบาดหมู บางคอกมีหมูตายเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ราคาหมูหน้าฟาร์มที่สูงถึงกิโลกรัมละกว่า 100 บาท เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรรายย่อยในหลายจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลับมาเลี้ยงหมูรอบใหม่

ล่าสุด ฟาร์มขนาดกลาง อย่างฟาร์มหมูสหกรณ์การเกษตรด่านขุนทด จำกัด จ.นครราชสีมา ที่ต้องทำลายหมูที่ติดเชื้อจำนวนมาก เมื่อปลายปี 2563 ก็เตรียมกลับมาทดลองเลี้ยงหมูรอบใหม่ เพื่อหวังจะมีรายได้ แต่ต้องปรับปรุงโรงเรือนให้ได้ตามมาตรฐาน

 


สภาพโรงเรือนหมูแม่พันธุ์ หรือเล้าคลอด ขนาด 120 ตัว ถูกปล่อยทิ้งร้าง หลังเกิดโรคระบาดหมู ในฟาร์มของสหกรณ์การเกษตรด่านขุนทด จำกัด พื้นที่ใกล้กับโรงเรือนถูกใช้ฝังซากหมูกว่า 2 พัน 700 ตัว ได้เงินเยียวยาร้อยละ 75 เป็นเงินกว่า 12 ล้าน 6 แสนบาท

 



หลังทำความสะอาดฆ่าเชื้อทั่วโรงเรือนและบริเวณโดยรอบ กว่า 50 ไร่ มาหลายรอบ พนักงานฟาร์มเริ่มเข้ามาสำรวจสภาพโรงเรือน เพื่อวางแผนเลี้ยงรอบใหม่ และเตรียมปรับปรุงเป็นฟาร์มระบบปิด ตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ แต่ต้องใช้เงินทุนสูง ซึ่งทางสหกรณ์ฯอยู่ระหว่างพิจารณา

 



1 ปีที่ผ่านมา สมาชิกสหกรณ์ทดลองเลี้ยงแพะเป็นทางเลือก ระหว่างรอปรับปรุงฟาร์มหมู



ส่วนจุดนี้เป็นฟาร์มย่อย ที่อยู่ห่างจากฟาร์มหลัก 4 กิโลเมตร ทางสหกรณ์ฯ เริ่มปรับปรุงทำรั้วรอบ ทำบ่อน้ำยาทางเข้าออกฟาร์ม ตามมาตรฐานที่กรมปศุสัตว์กำหนด

 

 



ผู้บริหารสหกรณ์การเกษตรด่านขุนทด จำกัด เตรียมนำลูกหมูกว่า 400 ตัวมาทดลองเลี้ยง ในเดือนกุมภาพันธุ์นี้ ซึ่งหากครบ 4 เดือน หมูไม่ติดเชื้อโรคระบาดซ้ำ ก็จะนำหมูแม่พันธุ์มาลงเลี้ยงเพิ่ม



ผมยอมเสี่ยงทดลองเลี้ยง ถ้าหมูชุดนี้ตายเราก็ยอมรับว่ายังเลี้ยงไม่ได้ แต่ถ้ารอด เราต้องเลี้ยงต่อ สหกรณ์ต้องหารายได้ดูแลสมาชิก และหากฟาร์มเลี้ยงหมูรอบใหม่ได้ ก็จะสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรรายย่อยในพื้นที่กล้ากลับมาเลี้ยง

 สุระ พาขุนทด ประธานกรรมการ สหกรณ์การเกษตรด่านขุนทด จำกัด กล่าว

 

 


กลางเดือนมกราคม ที่ผ่านมา สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ฯ จัดสัมนา
เพื่อให้ความรู้เกษตรกรที่จะกลับมาเลี้ยงหมูรอบใหม่ ต้องเริ่มทำระบบไบโอซีเคียวริตี้ระดับพื้นฐาน เริ่มจากใช้เงินทุนไม่มาก จัดการความสะอาด ทำรั้วรอบฟาร์ม กางมุ้งในคอก



แต่ข้อแนะนำที่สำคัญคือ เพิ่มจุดทำห้องอาบน้ำ ให้เกษตรกรได้ทำความสะอาดร่างกายก่อนเข้าไปในคอกหมู เพราะข้อมูลจากสัตวแพทย์พบว่า หมูมีโอกาสติดเชื้อโรคระบาดจากคนที่เข้าไปในฟาร์มถึงร้อยละ 43 โดยมีประวัติไปในพื้นที่เสี่ยงคือ ไปซื้อเนื้อหมูมาปรุงรับประทาน เกษตรกรรายย่อยหลายรายพยายามลดความเสี่ยง ด้วยการเลิกกินเนื้อหมู ไม่สัมผัสหรือนำเนื้อหมูเข้าบ้าน

 

 

ขณะที่กรมปศุสัตว์กำหนดแนวทางส่งเสริมและฟื้นฟูการเลี้ยงหมูรายย่อย โดยเริ่ม Scan ประเมินพื้นที่นำร่อง จากนั้น  Screen ความพร้อมเกษตรกร คอก และอุปกรณ์ รวมทั้ง Support คือ อบรม สนับสนุนพันธุ์สัตว์ มีอาสาปศุสัตว์ดูแล ส่งเสริมเงินทุนและการตลาด

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง