เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ร่วมกับเจ้าหน้าที่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 11 อุตสาหกรรมจังหวัดฯ ร่วมกับเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน และคณะทำงานภาคประชาชนของสถาบันพระปกเกล้า เข้าตรวจสอบปัญหากลิ่นเหม็นรุนแรง หรือกลิ่นสารเคมีจากบ่อพักน้ำเสียโรงงานแป้งมัน Modify และคุณภาพน้ำในลำห้วย ที่อยู่บริเวณด้านหลังโรงงานแป้งมัน ในพื้นที่ ต.หินดาด อ.ด่านขุนทด
หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า ได้รับผลกระทบ มีกลิ่นเหม็น และอาจมีน้ำเสียจากโรงงานแป้งมันถึง 3 แห่งไหลลงสู่ลำห้วย และพื้นที่โดยรอบ
จ.นครราชสีมา แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามแก้ไขปัญหานี้ โดยเน้นการตรวจสอบน้ำเสีย และกลิ่น เพื่อบังคับใช้กฎหมายควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม เบื้องต้นพบว่าน้ำมีสารปนเปื้อนจริง
วันที่ 1 ก.พ.65 สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 11 เปิดเผย ผลการตรวจสอบผลกระทบกลิ่นสารเคมี จากบ่อพักน้ำเสียของโรงงานแป้งมัน ดังนี้
1.ตรวจสอบบริเวณโรงเรียนบ้านหนองกาดน้อย ห่างจากโรงงานไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 1,500 เมตร เวลา 16.00 น. พบว่ามีกลิ่นเหม็นฉุนมาอย่างต่อเนื่อง ตรวจวัดก๊าซอินทรีย์ระเหยง่าย มีค่าอยู่ระหว่าง 0.117-2.009 มก./ลบ.ม.
2.ตรวจสอบชุมชนที่อยู่ใกล้โรงงาน บ้านปราสาท ม.14 ห่างจากโรงงานทางด้านทิศตะวันออกประมาณ 400 เมตร มีประชาชนอาศัยอยู่ 7 หลังคาเรือน รวม 30 คน เวลา 16.30 น. ได้รับผลกระทบกลิ่นเหม็นฉุนอย่างรุนแรงต่อเนื่อง ตรวจวัดก๊าซอินทรีย์ระเหยง่าย มีค่าอยู่ระหว่าง 0.078-0.308 มก./ลบ.ม.
3.เนื่องจากผลการตรวจสอบมีข้อบ่งชี้ว่าอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน อ.ด่านขุนทด และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 11 จะเร่งประสานสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานฯ และ อบต.หินดาด เข้าตรวจสอบเพื่อควบคุมการประกอบกิจการของโรงงานมิให้กระทบต่อประชาชน
ก่อนหน้านี้ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา จัดเวทีเสวนาถอดบทเรียนแก้ปัญหาน้ำเสียลุ่มน้ำลำเชียงไกรตอนบน หลังศูนย์ดำรงธรรมอำเภอด่านขุนทด ได้รับเรื่องร้องเรียนปัญหากลิ่น และน้ำเสียในลำห้วยสาขา ที่ไหลลงสู่ห้วยลำเชียงไกรตอนบน ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่า สารปนเปื้อนนั้นมาจากที่ใด จึงนำไปสู่การลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อหาทางออกร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับโรงงานผลิตแป้งมันสัมปะหลัง