ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กสม.ระบุ ตัด ผปค.ออกจากระบบโฮมสคูลถือว่าละเมิดสิทธิ

สังคม
3 ก.พ. 65
14:32
350
Logo Thai PBS
กสม.ระบุ ตัด ผปค.ออกจากระบบโฮมสคูลถือว่าละเมิดสิทธิ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กสม. ชี้ สพฐ. แก้ไขคู่มือการจัดการศึกษา ไม่ให้ครอบครัวร่วมเป็นกรรมการและมีส่วนร่วมประเมินผลการเรียนแบบโฮมสคูล เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

วันนี้ (3 ก.พ.2565) ที่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อาคารบี ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และน.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวประจำสัปดาห์ครั้งที่ 4/2565 โดยมีวาระสำคัญ คือ

กสม. ชี้ สพฐ. แก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่ให้ครอบครัวเข้ามาเป็นกรรมการและมีส่วนร่วมประเมินผลการเรียนแบบโฮมสคูล เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2565 ได้พิจารณาคำร้องกรณีผู้จัดการศึกษาโดยครอบครัวร้องเรียนมายัง กสม. เมื่อเดือนเมษายน 2564

กล่าวอ้างว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษารวม 7 แห่ง ปฏิเสธการมีส่วนร่วมของครอบครัวในการเข้าร่วมเป็นกรรมการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัว ประจำปีการศึกษา 2563

อันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก สพฐ. ได้มีหนังสือที่ ศธ 04006/ว2894 ลงวันที่ 29 ก.ค.2563 แก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยแก้ไขในส่วนของคณะกรรมการวัดและประเมินผลฯ ให้มีเพียงผู้แทนหน่วยงานของรัฐ อันประกอบด้วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา ข้าราชการครู แต่เพียงฝ่ายเดียว

จากเดิมที่กำหนดให้คณะกรรมการวัดและประเมินผลฯ ประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เข้าใจในการจัดการศึกษาโดยครอบครัว โดยผู้ร้องเห็นว่า

การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าว ฝ่ายครอบครัวไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ส่งผลให้ผู้เรียนและครอบครัวถูกวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาอย่างขาดความเข้าใจ และไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 54 บัญญัติให้รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 กำหนดว่า

นอกเหนือจากรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคคล ครอบครัวองค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย

ขณะที่กฎกระทรวง ว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว พ.ศ.2547 ได้กำหนดให้ครอบครัวดำเนินการวัดผล และประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย

กสม. เห็นว่า การจัดการศึกษาโดยครอบครัว เป็นการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีลักษณะเป็นการศึกษานอกระบบและเป็นการศึกษาทางเลือกที่สามารถเข้าถึงคุณลักษณะเฉพาะของตัวผู้เรียนแต่ละคน ที่มีความยืดหยุ่นหลากหลาย

ซึ่งครอบครัวหรือผู้จัดการศึกษาในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบจัดการศึกษา เป็นครูผู้สอนด้วยตนเอง หรือเป็นผู้อำนวยการให้เกิดการเรียนรู้ ย่อมเป็นผู้ที่เข้าใจและทราบถึงพัฒนาการของผู้เรียนได้ดีที่สุด ครอบครัวจึงควรมีส่วนร่วมในการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษา

การที่ สพฐ. ไม่ให้ครอบครัวเข้าไปร่วมเป็นกรรมการวัดและประเมินผลฯ แต่ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและบุคลากรของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทำการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้น จะส่งผลให้คณะกรรมการขาดความเข้าใจและขาดข้อมูลที่รอบด้านในการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัวอย่างแท้จริง และส่งผลกระทบต่อคุณภาพทางการศึกษาของเด็กผู้เรียนตามมา จึงเห็นว่าการกระทำของ สพฐ. เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในการนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิทางการศึกษาให้แก่ครอบครัวและผู้เรียน กสม. จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้ สพฐ. กำหนดให้ครอบครัวหรือผู้จัดการศึกษาโดยครอบครัวได้มีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เพื่อให้มีการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาอย่างรอบด้าน และมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความเข้าใจต่อผู้เรียน รวมถึงเป็นไปตามพัฒนาการและศักยภาพของผู้เรียน

สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษารวม 7 แห่ง กสม.เห็นว่า ไม่ได้กระทำหรือละเลยการกระทำ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัว เนื่องจากได้ดำเนินการตามคู่มือการจัดการศึกษา และได้เปิดโอกาสให้ครอบครัวมีส่วนร่วมกับการวัดและประเมินผลตามสมควรแล้ว

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง